“IF YOU DON’T DO IT YOURSELF, WHO WILL DO IT ?” เป็นกฎเกณฑ์ธรรมชาติของมนุษย์ที่เหมือนกันทุกคน ที่เกิดมาแล้วมีความต้องถาร ความอยากได้ ความปรารถนาอยู่ในห้วงลึกของหัวใจ เพียงแต่พื้นฐานของความอยากได้แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับขั้นของชีวิตในขณะนั้น

ถ้าชีวิตยังไม่อยู่รอด อะไรก็ได้ที่ทำให้ชีวิตอยู่รอด

เมื่อชีวิตอยู่รอดแล้ว อะไรก็ได้แต่ต้องปลอดภัยกับชีวิต

เมื่อชีวิตปลอดภัยแล้ว การเริ่มสร้างฐานะรายได้ ทรัพย์สิน ก็ตามมา

มีเงิน มีรายได้แล้ว ก็เริ่มอยากได้ที่อยู่อาศัย มีครอบครัว มีภรรยา บุตร

เสร็จจากที่อยู่อาศัยที่สบายแล้ว ก็อยากได้การยอมรับในสังคม มีรถยนต์ ออกงาน มีการศึกษาสูง ฯลฯ

เกิดการยอมรับในสังคมแล้ว ก็เริ่มต้องการมีชื่อเสียง มีหน้ามีตา

เมื่อได้สิ่งที่ปรารถนาแล้ว ก็มีสิ่งที่อยากได้อย่างนตามมาอีก เป็นเช่นนี้ไม่มีสิ้นสุด

นั่นคือความเหมือนของมนุษย์ทุกคน

ความต่างของมนุษย์ ก็คือ “การปฏิบัติ”

การปฏิบัติ คือ การใช้เวลาสร้างหรือบันดาลให้ความสำเร็จนั้นเกิดขึ้นจากความอยากได้ ความปรารถนา หรือความใฝ่ฝัน ได้มากน้อยกว่ากัน

บางคนทุ่มเทกำลังกายกำลังใจตั้งแต่วัยหนุ่ม วัยสาวให้ได้มาซึ่งความใฝ่ฝัน

บางคนใช้เวลาทุ่มเทพอประมาณ บางคนใช้เวลาทุ่มเทน้อยเกินไป

บางคนขาดความรับผิดชอบ ขาดความอดทน แทบจะไม่ได้ใช้เวลาทุ่มเทอะไรให้กับชีวิต

ความฝันก็กลายเป็นฝันลม ๆ แล้ง ๆ

เป็นที่น่าเสียดายเวลาของชีวิตที่เสียไปให้กับสิ่งไร้สาระ หรือสิ่งที่ทำลายตนเอง

บางคนรุ่งเรือง แต่ในระยะที่กำลังรุ่งเรืองกลับใช้ชีวิตอย่างผิดพลาด หลงการพนัน หลงยาเสพติด จนในที่สุดชีวิตที่รุ่งเรืองก็ตกอับไวกว่ากำหนด และหมดอนาคต

ในเมื่อความปรารถนาเป็นของเรา ความสำเร็จในความปรารถนาก็อยู่ในอุ้งมือของเราเองแท้ ๆ

เราเป็นผู้กำหนดชะตาชีวิตของตนเอง เราลิขิตชีวิตเราเอง ผู้บังคับบัญชา เพื่อน ลูกน้อง ญาติพี่น้อง เป็นตัวประกอบทั้งนั้น ในชีวิตจริงเราเป็นพระเอก เราเขียนบทให้เราเป็นพระเอกทุกตอน แล้วแต่เรื่องที่เราสร้างจะจบแบบไหน

จบอย่างสมหวัง HAPPY ENDING

จบแบบเศร้า SAD ENDING

จบแบบไม่รู้ร้อนรู้หนาว UNCOMMONSENSE ENDING

เราเป็นผู้เขียนบท และกำกับการแสดง เราอยากได้การจบอย่างสมหวัง HAPPY ENDING แต่การจบอย่างสมหวัง ต้องแลกด้วยความมุ่งมั่นตั้งใจ รู้จักชนะใจตนเอง และต้องยึดมั่นในกติกาต่อไปนี้

1. ตอบกับตัวเองว่า เราต้องการในสิ่งที่ก่อให้เกิดความสำเร็จใช่ไหมแน่นอน “มันเป็นไปไม่ได้ ถ้าเราต้องการความสำเร็จ แต่เราทำในสิ่งซึ่งผู้ประสบความสำเร็จเขาไม่ทำกัน”

2. ดังนั้นข้อคิดจากข้อที่ 1 เราต้องมองหา Champion ในดวงใจ และเริ่มศึกษาเรียนรู้จากเขาลอกเลียนแบบเขา วิธีการนี้เขาเรียกว่า “Bentz Mark” คือ หาแม่แบบ ผู้ที่เป็นแชมป์เขาทำอะไร เขาทำอย่างไร เขาตื่นนอนกี่โมง เขาเริ่มทำงานกี่โมงเขาแต่งกายอย่างไร เขาจัดระบบการทำงานอย่างไร เขาหาลูกค้าอย่างไร เมื่อศึกษาแล้ว ถามตนเองต่อไปว่า อยากประสบความสำเร็จเร็วกว่าใช่ไหม ถ้าใช่เราต้องทำมากกว่าที่เขาทำ เขาทำงาน 8.00 น. เราต้องทำงาน 7.30 น. เป็นต้น

3. เราต้องสัญญากับตัวเอง (Commitment) สัญญากับตนเองว่า เราจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง “Change of Habits” ถ้าเราไม่ให้คำมั่นคำสัญญา ไม่ฝัน ไม่ฝึก ไม่ข่มใจ ไม่ปรับปรุงตนเอง เราก็จะ ทำแบบหรือวิธีที่เราเคยทำ แต่ไม่ได้ทำแบบที่แชมป์เขาทำ มันก็ไม่มีการเปลี่ยนแปลง

เมื่อไม่มีการเปลี่ยนแปลง ก็ไม่มีการพัฒนา เมื่อไม่พัฒนา ก็เป็นแบบเดิม ๆ ที่สุดเราก็เบื่อหน่ายตัวเราเอง ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุด เอาสมุดและปากกาแล้วนั่งเงียบ ๆ คนเดียว สำรวจตนเองว่า เรามีอะไรที่ต้องปรับปรุงแก้ไขตรงไหน เสียตรงไหนบ้าง

เหมือนทำความสะอาดบ้าน ก่อนที่จะจัดบ้านใหม่ เมื่อเอาสิ่งสกปรกออกจากบ้าน ออกจากห้องแล้ว ให้พิจารณาต่อไปว่า แล้วเราจะตกแต่งท้องหรือบ้านอย่างไร ให้สวยงามขั้นหนึ่ง และขั้นที่สองดูจะง่าย แต่ขั้นต่อไปคือ ขั้นปฏิบัติเพื่อการเปลี่ยนแปลง เราต้องฝึกตนเอง อย่าไปทำแบบเก่า ๆ ที่เราประเมินแล้วว่าไม่ดีกับชีวิต ข่มใจตนเอง หากวิธีใหม่ทำให้เราลำบากมากขึ้น เช่น เคยตื่นนอนสายต้องมาตื่นนอนเช้า ๆ ก็จำเป็นต้องข่มใจตนเอง เพื่อทำให้ได้ฝึกอย่างสม่ำเสมอ อย่าทำ ๆ หยุด ๆ ต้องทำต่อเนื่อง ที่สุดก็จะเป็นนิสัยใหม่ที่มีในตัวเรา

4. เป็นผู้มีระเบียบวินัยในตนเอง (Self-Discipline) ควบคุมตนเอง ประเมินตนเอง ลงโทษตนเอง และให้รางวัลตนเอง ทุกอย่างนี้ต้องทำให้เป็นอย่าทำแต่ให้รางวัลตนเองอย่างเดียว โดยไม่มีการลงโทษตนเอง เมื่อกระทำความผิด

5. หาตัวกระตุ้นให้ทำงานหนักมากขึ้น ตั้งเป้าประสงค์ให้ชัดเจน จับ FOCUS ไปที่เป้าประสงค์นั้น ความเชื่อมั่นในตนเอง (Self Confidence) มาจากการเตรียมตัวที่ดี (Prepared)

ความสำเร็จไม่ได้เกิดขึ้นจากความฝัน แต่เป็นผลของการกระทำซึ่งมีระบบแบบแผน

มีการกำหนดเป้าหมายให้ชัดเจนกำหนดวิธีการตามขั้นตอน ถูกทิศทาง (ไม่หลงใหลวิธีการที่หลอกลวงหรือภาพลวงตา) ถ้าภาษาธรรมะ เข้าหลักอิทธิบาท 4 คือ ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา ผู้รอบรู้ท่านหนึ่งสรุปให้ฟังว่า ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการพัฒนาประเทศด้วย วิริยะ “ความเพียรพยายาม”

แม้จะมีภัยสงคราม แม้จะมีภัยธรรมชาติเกิดขึ้นแล้วเกิดขึ้นอีก แต่ประเทศญี่ปุ่นก็เป็นประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้

การทำงานขายไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีภาคปฏิบัติที่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถบอกเหมือนสูตรคูณ สองบวกสองเป็นสี่ อธิบายได้เพียงว่า ต้องมี หัวใจโต ใฝ่บินสูง ขยันทำขยันคิด มีความรู้มาก ๆ ประสบการณ์มาก ๆ ความสำเร็จก็เกิดมากเท่านั้น

“ความเพียรพยายามเป็นเรื่องของมนุษย์” อย่าไปมัวบนบานสานกล่าววิงวอนเทวดาฟ้าดิน

“ความสำเร็จเป็นเรื่องของเทพยาดา” ถ้าเราไม่ก้าว เทพยาดาก็ไม่สามารถจับให้เราก้าวได้หรอก

“อัตตาหิ อัตตโน นาโถ” “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”

เคยพบกับนักขายบางคน ที่ชอบบ่น บ่นทุกเรื่องที่เกิดขึ้น อะไรก็ไม่ดี ไปหมด ไม่ถูกใจตนเองไปหมด บ่นแม้กระทั่งไม่รู้โน่นรู้นี่ และก็ติเตียนว่าองค์กรหรือหัวหน้าไม่สอนให้ ไม่เห็นบอก หรือทำไมไม่แจ้งให้ตนเองทราบ

ตัวอย่างนี้เป็นลักษณะอย่างหนึ่งของนักขายที่ล้มเหลว เพราะตราบใดที่จะพึ่งคนอื่นในทุก ๆ เรื่อง ทุก ๆ อย่าง ความล้มเหลวจะเกิดกับเราเอง

มันไม่มีประโยชน์อะไร ถ้าเราบ่นอู้อี้และไม่ทำอะไรเลย ในเมื่อความฝันก็เป็นของเรา ละครชีวิตเราก็เป็นพระเอก เรากำกับเอง แล้วมัวรอใครทำไมไม่แหวกฟ้าคว้าดาวด้วยตนเอง

ใช้สองมือแหวกฟ้ากว้าง อย่างแข่งขัน

ใช้สองเท้ายืนประชัน กับปัญหา

ใช้สมองสรรสร้าง ทางปัญญา

หนึ่งหัวใจ ยืนหยัดกล้า ขึ้นคว้าชัย

โรจ ว่องประเสริฐ
Advertisement
Previous articleเอสซีจีคว้ารางวัลธุรกิจคาร์บอนต่ำและยั่งยืนระดับโดดเด่น ประจำปี 2565
Next article“เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าการเมืองนั้น มีผลต่อชีวิตประจำวันของเราในเกือบทุกด้าน”

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here