ข้อคิดสำหรับมนุษย์

Must read

ผมชอบนั่งบนสันภูเขาเหม่อดูระลอกคลื่นของขุนเขาที่คล้ายแผ่วพริวไปตามเหลือบเงาของแสง และผมก็ได้ข้อสังเกตประการหนึ่ง ต้นไม้ที่อยู่บนสันภูเขาส่วนมากมีขนาดไม่สูงไม่ใหญ่นัก ขนาดมักจะพองามและมักจะบิดงอเปลือกผิวหยาบกร้าน และแตกปริเป็นส่วนใหญ่

คล้ายต้นไม้จะบอกเราว่า เมื่ออยู่สูงแล้วก็ไม่จำเป็นต้องทำตัวให้สูงตาม

เพราะภาระที่สำคัญคือ การยืนต้นต้านเม็ดฝนและลมแรง

ต้นไม้สูงที่ผมเห็น กลับเป็นยางสีขาวนวล และมะเคี่ยมใหญ่สีดำคล้ำเพราะมันมักอยู่ตามหุบเขาลึกจำเป็นต้องผลักลำต้นให้สูงขึ้นมารับแสงแดด

ในป่าไม่ค่อยมีสีสันเท่าไร แต่บางช่วงที่จะเห็นต้นไม้ออกดอกสีแดงกับต้นเสี้ยวสีขาวโพลนเต็มต้น

ต้นไม้เหล่านี้มีไม่มากนัก มันอยู่กระจายเป็นช่วง ๆ ให้เราเห็นพองามเหมือนป่าจะบอกเราว่า “สิ่งที่มีคุณค่านั้นจะอยู่ที่ใดก็จะสามารถแสดงเอกลักษณ์ของมันเพื่อดำรงคุณค่าเกื้อกูลต่อส่วนรวมได้เหมือนกัน” ไม่ว่าจะเป็นไม้เล็กบนสันภู ตันยาง หรือดอกเสี้ยว

ดูเหมือนจะเป็น Hermann Hesse ผู้เขียน สิทธารถะ ที่เคยกล่าวไว้นานแล้วว่า “ต้นไม้เป็นครูที่ดีที่สุด” ต้นไม้เก็บบันทึกประวัติศาสตร์ทั้งชั่วชีวิตของตนไว้อย่างซื่อสัตย์ไม่ซ่อนเร้นปิดบัง

ไม้ก่อเปลือกบาง แต่หยาบกร้าน แตกเป็นริ้วยาวเป็นแห่ง ๆ เพราะลมกรรโชกบนสันเขา

ไม้สน เปลือกเป็นเกล็ดแห้งซ้อนเป็นชั้น กิ่งก้านคดงอ ผู้ตัวสู้กับความหนาวและลมแรง

ต้นไม้เวลาถูกโค่น วงปีของมันจะบ่งบอกถึงความร้อน ความหนาว ความเจ็บไข้ อิ่ม หิว ความแห้งแล้ง และทุกข์ สุขทุกอย่างไว้หมด ต้นไม้ก็คล้ายคนหากอิ่มเกินไป สุขเกินไป เนื้อของมันก็จะหลวม ไม่เป็นแก่น ตรงกันข้าม ไม้ที่แกร่ง มีค่า มีสง่าราศี มักเติบโตที่กันดารห่างไกล วงปีของมันเรียงเป็นระเบียบแค่อัดแน่นคล้ายแต่ละปีขอให้มีเพียงที่ ๆ จะแทรกตัวอยู่ได้ก็พอ

วงปีของไม้ยูคาลิปตัสนั้น แต่ละวงกว้างเกือบจะสองนิ้ว สองนิ้วนี้หากเป็นไม้แก่นตามพงไพร อาจเรียงวงปีลงได้ถึงยี่สิบสามสิบวง เพราะพวกเขาไม่ได้สำลักชีวิต หากซึมซับชีวิตเข้าไปอย่างสุขุม

สนเกี๊ยะ ที่มีอยู่คลาคล่ำบนสันภูหวด ภูแว ในจังหวัดน่านหรือดอยลังกาในเชียงใหม่หากมันโตในที่ ๆ มีโขดหินขรุขระ เนื้อหินทราบสีแดงยังแน่นไม่ปนหักเป็นผง เนื้อในของมันก็จะอิ่มด้วยน้ำมันสน จนบางครั้งเป็นไขสีเหลืองนวล เหมือนสีผึ้งบนริมฝีปากสาวเหนือโบราณ

ผมมีแก่นไม้คูณที่ดำอยู่ท่อนหนึ่ง ไม้นี้มีเฉพาะภาคใต้และหาได้ค่อนข้างยาก จนเชื่อกันว่าหากกินเข้าไปแล้วจะคงกระพันชาตรี เนื้อของมันอัดแน่นจนเส้นไม้โก่งงอ ผมชอบเอามือเคาะจนพอเจ็บให้ได้สัมผัสความแกร่งของมันเวลารู้สึกท้อแท้หรือผิดหวัง

ต้นไม้ในป่าหนึ่ง ๆ มีเป็นล้านเป็นแสน มันมีวิถีทางขยายวงศ์วาน ว่านเครือมันต่าง ๆ กันไป ดอกหญ้าป่าหลายชนิดคล้ายหญ้าเจ้าชู้ จะเกาะติดคนหรือสัตว์ไปตามที่ต่าง ๆ อย่างไม่จำกัด เก้งหรือกวางชอบกินลูกมะกอกป่าสุกเป็นชีวิตจิตใจ มันค่อย ๆ เคี้ยวกันนานเป็นชั่วโมงสองชั่วโมง แล้วค่อย ๆ ลัดลงไปดื่มน้ำในห้วยก่อนจะเตร็ดเตร่ไปหาที่นอน ซึ่งอาจจะไกลออกไปอีกหนึ่งหรือสองหัวภู ที่ ๆ มันนอนซึ่งมักจะเป็นที่ ๆ มันถ่าย อาจเป็นแหล่งที่มะกอกต้นใหม่งอกงามขึ้นมา

“ต้นไม้ไม่รู้ว่า พ่อแม่ของมันอยู่ที่ไหน และลูกหลานมันจะไปเติบโตในที่ใด สิ่งเดียวที่ทำให้มันดำรงชีวิตอยู่ได้ก็คือ ศรัทธา”

มันมั่นใจว่า หลังจากลมพัดแรง และมีเสียงฟ้าร้อง ย่อมจะมีฝนตามหลังมา

มันมั่นใจว่า หลังแดดจ้า ย่อมมีค่ำคืนและน้ำค้างที่ชุ่มเย็น

ผมจึงถือเอาต้นไม้เป็นครู เป็นแบบอย่างที่ดีให้กับคน เวลาท้อแท้กับการงาน หรือขมขื่นกับชีวิต

เพราะมนุษย์ไม่โดดเดี่ยวเหมือนต้นไม้

มนุษย์แม้ในยามผิดหวังอย่างที่สุด ก็ยังมีพ่อ แม่ ลูก เพื่อน หรือคนรัก

ไม้ยืนต้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ใด มันจะพยายามยืดตัวตรงอยู่เสมอ

ไม้เล็ก อาจจะเอนลำต้น แต่พอพันเงาไม้ใหญ่ มันก็จะเสียดตัวตรงขึ้นไป

แต่ที่สำคัญคือ ไม้ยืนต้นมีรากแก้ว และไม่ว่าต้นไม้จะขึ้นที่สันเขา หุบห้วย หรือบนหน้าผา รากแก้วของมันจะแทงดิ่งตรงไปที่จุดศูนย์กลางของโลกเสมอ

คล้ายมันจะรู้ว่า มันอยู่ตรงไหนในโลกและคล้ายจะบอกว่าแม้มันจะไม่รู้หนทางเบื้องหน้าจะไปยังหนใด แต่มันก็รู้และมั่นคงต่อแผ่นดินที่มันเติบใหญ่มา

By… โรจ ว่องประเสริฐ

- Advertisement -

More articles

Magazines

66,596FansLike
4,597FollowersFollow
191FollowersFollow
4FollowersFollow
1FollowersFollow
50FollowersFollow
87SubscribersSubscribe
- Advertisement -

Latest article