กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ เป็นหนึ่งในคนไทยเพียงไม่กี่คนที่เล็งเห็นศักยภาพของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเมื่อหลายสิบปีก่อน จากเด็กพูดติดอ่างที่มีพัฒนาการช้ากว่าเพื่อน เขาหยุดเรียนหนังสือตอนอายุ 10 ขวบกว่า แล้วหันมาทำกิจการจำหน่ายอุปกรณ์เครื่องมือช่างตั้งแต่เด็ก ได้เรียนรู้การทำงานและซึมซับการทำธุรกิจ จนสามารถเปิดบริษัท กันกุล เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด ของตนเองด้วยวัยเพียง 29 ปีเท่านั้น
แม้จะเริ่มต้นจากธุรกิจเล็กๆ ที่เน้นซื้อมาขายไป แต่เขาก็ไม่เคยหยุดมองหาโอกาสใหม่ๆ และท้าทายตัวเองด้วยเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าเดิมเสมอ แทนที่จะรอคอยความพร้อม เขากลับเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งเป็นไปได้ แค่ ‘ลงมือทำ’
เขาเคยเกือบล้มละลาย เพราะเป็นหนี้สูงถึง 300 ล้านบาท แต่กลับพาบริษัทลุกขึ้นมาได้อีกครั้ง จนกลายเป็นกลุ่มบริษัทที่ดำเนินธุรกิจครบวงจรด้านอุปกรณ์สำหรับระบบไฟฟ้าและระบบพลังงานทดแทนแถวหน้าของประเทศในปัจจุบัน และนี่คือเรื่องราวของผู้บริหารที่ไม่เคย ‘ยอมแพ้’
กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์ วัย 60 ปี ประธานกรรมการ บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง (GUNKUL) ธุรกิจพลังงานทดแทน มหาเศรษฐีอันดับที่ 44 มูลค่าสินทรัพย์ 1.76 หมื่นล้านบาท ปรากฏชื่อเป็นมหาเศรษฐีไทยของฟอร์บส์เป็นปีแรก หลังจากที่ราคาหุ้นพุ่งขึ้นไปกว่า 2 เท่าในรอบปีที่ผ่านมา หลังจากรายได้จากพลังงานทดแทนมีสัดส่วนเกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด
กัลกุลก่อตั้งบริษัทในปี 2525 ยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี โดยรับช่วงกิจการจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าย่านราชวัตรมาจากครอบครัว ต่อมาขยายธุรกิจร่วมทุนกับต่างชาติในการผลิตอุปกรณ์ไฟฟ้าทดแทนการนำเข้าและจัดส่งให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ขยายธุรกิจไปสู่พลังงานสะอาด ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ และลม เริ่มจากได้ใบอนุญาตพลังงานแสงอาทิตย์ จากนั้นเข้าระดมทุนเป็นบริษัทจดทะเบียนใน ตลท. เพื่อนำเงินมาต่อยอดทำพลังงานสะอาดที่ต้องใช้ทุนสูง
กัลกุล เล่าเคล็ดลับความร่ำรวยว่า เขาฝันอยากทำอะไร อยากไปไหนตั้งแต่อายุได้ 13 ปี โดยช่วยพ่อแม่ขายอุปกรณ์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ก่อสร้างมาตลอด เมื่อรับช่วงกิจการต่อจากที่บ้านตอนอายุได้ 20 ปี ได้เริ่มนำเข้าอุปกรณ์มาขายให้ กฟผ. จากนั้นผลิตสินค้าขายให้ กฟผ. จนกระทั่งร่วมทุนกับต่างประเทศผลิตสินค้า ขยายประเภทสินค้ามาเรื่อยๆ 20 ปี ต่อมาผลิตสินค้าได้ 300 รายการขายให้ กฟผ.
จุดพลิกผันของเขาเริ่มจากการที่รับก่อสร้างโรงไฟฟ้าให้ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้ากังหันลม 2 ต้นแรกที่ลำตะคอง นครราชสีมา เมื่อเห็นกังหันลม กัลกุลรู้สึกได้ว่าการหมุนของกังหันลมเสมือนโรงงานหนึ่ง เพราะกังหันลมต้นหนึ่งมูลค่ากว่า 100 ล้านบาท เมื่อมิเตอร์เริ่มหมุนเท่ากับเก็บเงินได้แล้ว ใช้คนน้อย ซ่อมแซมน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับการขายสินค้าที่มีความไม่แน่นอน ไม่ต้องแย่งกันขาย ถ้าคุณภาพไม่ดีถูกปรับอีก วัตถุดิบขึ้นราคาก็มีปัญหา กำไรน้อย
เมื่อสร้างกังหันลมแล้วเสร็จจึงคิดได้ว่าน่าจะทำโรงไฟฟ้ากังหันลมได้ ต้องหาที่ที่มีลม ศึกษาลม ที่ต้องมีเวลาทดสอบ หาสถานที่ใช้เวลา 2-3 ปี เพื่อให้มั่นใจว่ามีลมพอผลิตไฟฟ้า จังหวะนั้นรัฐบาลเริ่มทำโซลาร์ฟาร์ม กัลกุลจึงได้ใบอนุญาตโซลาร์ฟาร์มรายแรกๆ ของเมืองไทยที่ยังได้ค่าไฟฟ้าส่วนเพิ่ม (แอดเดอร์) ที่ 8 บาท/หน่วย
เมื่อได้ใบอนุญาตโซลาร์ฟาร์ม กัลกุลตั้งเป้าเข้าจดทะเบียนใน ตลท. ภายใน 3 เดือน จากนั้นเข้า ตลท.ตามเป้าหมายปี 2553 เข้า ตลท.ปีแรกรายได้หลักยังมาจากธุรกิจพาณิชย์ จนกระทั่งรายได้เริ่มเปลี่ยนแปลงในปี 2555 ปี 2556 ก้าวกระโดดปี 2557 รายได้จากพลังงานสะอาดเกิน 50% ราคาหุ้นนับตั้งแต่เข้า ตลท.มาพุ่งขึ้น 10 เท่า เพราะโครงสร้างรายได้ที่เปลี่ยนแปลงจากธุรกิจพาณิชย์มาเป็นธุรกิจพลังงานครบวงจร
บริษัทเริ่มเข้าซื้อบริษัทไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในญี่ปุ่น 120 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเดือน ธ.ค. 2557และกำลังสร้างโรงไฟฟ้าในเมียนมา เพราะมองว่าโอกาสเติบโตโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดในเมืองไทยมีน้อยเพราะการแข่งขันที่สูงขึ้น แลผลตอบแทนที่ลดลงจึงมีเป้าหมายเข้าซื้อกิจการเพิ่มในญี่ปุ่นเพื่อนำไปสู่เป้าหมายในปี 2560 รายได้จากธุรกิจไฟฟ้าพลังงานสะอาดจะเพิ่มเป็น 95% จากปี 2558 ที่คาดว่าจะเกิน 60%
สโลแกนของบริษัท คือ พลังงานสร้างสรรค์ คิดล้ำ ทำจริง GUNKUL มองเห็นโอกาสเข้าสู่พลังงานไฟฟ้าสะอาดปี 2553 และตัดสินใจเข้าสู่ธุรกิจนี้ หลังจากนั้นยังรู้จักใช้คนให้เป็น บริษัทตั้งเป้าหมาย 3 ปี ตั้งแต่ปี 2558-2560 มีโรงไฟฟ้า 500 เมกะวัตต์ ปัจจุบันทำได้แล้ว 270 เมกะวัตต์ ปี 2561 โรงไฟฟ้าจะเริ่มเดินกำลังการผลิตเพื่อขายได้เต็มที่ 500 เมกะวัตต์
-ปี 2540 ช่วงนั้นวิกฤตต้มยำกุ้ง บริษัทประสบปัญหาเพราะนำเข้าอุปกรณ์มาขาย เมื่อค่าเงินบาทลอยตัวทำให้ขาดทุนค่าเงินเพิ่มจาก 25 บาท เป็น 30-57 บาท/เหรียญสหรัฐ จึงร่วมทุนกับต่างประเทศผลิตอุปกรณ์ขายในประเทศและเมียนมาจนกระทั่งปัจจุบันสินค้ากว่า 90% ผลิตขายเอง
-ปี 2548 บริษัทวางระบบสร้างสำนักผู้บริหาร ปี 2549 บริษัทตั้งฝ่ายพัฒนาธุรกิจหาธุรกิจใหม่ที่บริษัทยังไม่เคยทำ และเข้าสู่ธุรกิจพลังงานทดแทน ปัจจุบันแผนกนี้ดูแลพลังงานทดแทนทั้งหมด
-ปี 2550 บริษัทเปลี่ยนแปลงเป็นบริษัทมหาชน ปี 2553 เข้า ตลท. และได้เติบโตไปพร้อมกับการพัฒนาบริษัท
กว่าจะข้ามผ่านแต่ละจุดมาได้ หลังจากนั้นเราเรียนรู้ว่าต้องไม่ผิดซ้ำเรื่องเดิมอีก ถ้าอยากจะเติบโต ก็ต้องเข้าตลาดหลักทรัพย์ นั่นคือเป้าหมายต่อไปของเรา สิ่งที่ช่วยผลักดันไม่ยอมแพ้ในตอนนี้คือ ต้องเริ่มต้นใหม่ ตอนนั้นเชื่อว่า สามารถทำได้ เราทำธุรกิจได้ ถ้าเราตั้งใจทำ
เคล็ดลับการบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ ของ กัลกุล ดำรงปิยวุฒิ์
เราต้องหาโอกาสใหม่ๆ อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ ถ้าเราอยากทำต้องตั้งใจ ไม่ว่ามันจะยากขนาดไหน มันจะยากแค่ครั้งแรกเท่านั้น ครั้งที่ 2 ครั้งที่ 3 ทำไปเรื่อยๆ การทำทุกวันซ้ำๆ จะทำให้เกิดความชำนาญ และเราต้องเชื่อว่าเราทำได้ ทุกคนมีความกลัวหมด เป็นเรื่องปกติ แต่ความกลัวมันกลัวคนกล้า กล้าที่จะลงมือทำทั้งๆ ที่ใจก็ยังกลัวอยู่บ้าง ถ้าเราไม่ปรับตัวเปลี่ยนตามสถานการณ์ เราจะจมปลักอยู่ในอดีต เราต้องมองไปข้างหน้า และถ้าคุณไม่เชื่อว่าทำได้ คุณอย่าทำเลย ถ้าไม่เชื่อ ยังไงก็ทำไม่ได้ ต้องทำทุกวัน เชื่อในตัวเอง แล้วก็ทำวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน
อ้างอิง : https://thestandard.co/gunkul-dhumrongpiyawut/