ในระบบเศรษฐกิจโลกนั้น การไหลเข้าไหลออกของเงินทุนเป็นเรื่องปกติ หากจะเปรียบเทียบให้เห็นภาพแล้ว เงินนั้นก็มีลักษณะดังเช่นน้ำ ที่จะไหลไปรวมกันเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่าง ๆ หากมองน้ำเปรียบเทียบกับเงินแล้วนั้น น้ำอาจจะถูกปรับเปลี่ยนรูปทรงไปตามภาชนะที่ใส่หรือไหลจากที่สูงลงที่ต่ำตามหลักของแรงโน้มถ่วงของโลก เงินเองก็มีลักษณะเช่นนี้เหมือนกันกล่าวคือ เงินนั้นจะไหลไปสู่สิ่งที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดและมีความเสี่ยงต่ำที่สุด ซึ่งนโยบายทางการเงินต่าง ๆ รวมไปถึงการเมือง เสถียรภาพของประเทศที่ต่างกันนั้นก็มีส่วนอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินทุนจากทั่วโลก เพราะเงินทุนเหล่านี้มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ดังนั้นจึงต้องมีการสร้างผลกำไรให้ได้มากที่สุดจากเงินก้อนนี้ให้ได้จึงต้องมีการเคลื่อนย้ายของเงินทุน

เป็นที่ทราบกันดีว่าเงินเฟ้อและดอกเบี้ยนั้นเป็นของคู่กัน นโยบายทางการเงินธนาคารต่าง ๆ ก็มีการถูกกำหนดออกมาให้สอดคล้องกับระบบเศรษฐกิจ ถ้าหากเงินเฟ้อมากเกินไป ก็จะมีการปรับออกดอกเบี้ยเพิ่มมากขึ้นเพื่อทำให้เงินออกจากระบบ ทำให้มีปริมาณเงินน้อยลงจำนวนเงินที่จะซื้อสินค้าก็จะน้อยลง ทำให้ระดับของอัตราเงินเฟ้อนั้นน้อยลงตามไปด้วย ในทางกลับกัน ถ้าหากมีเงินในระบบน้อยเกินไป หรือการจับจ่ายใช้สอยลดน้อยลงเพราะเศรษฐกิจไม่ดีนั้นก็จะมีการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นผ่อนผันทางการเงินหรือว่าการลดอัตราดอกเบี้ย ทำให้มีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาสู่ในระบบมากขึ้นทำให้มีสภาพของการใช้จ่ายมากขึ้น

ในช่วงที่ผ่านมานั้น สหรัฐอเมริกาต่อสู้กับเศรษฐกิจไม่ดีในประเทศด้วยการกำหนดนโยบายผ่อนผันทางการเงินออกมามาก จนเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นอย่างรุนแรง นั่นทำให้ต้องมีการจัดการกับระบบเงินเฟ้อที่อาจส่งผลอันตรายต่อระบบเศรษฐกิจด้วยการขึ้นอัตราดอกเบี้ยให้มากขึ้น เพื่อดึงเงินออกจากระบบทำให้เงินทุนจากประเทศที่อัตราดอกเบี้ยน้อยกว่าไหลกลับเข้าไปสู่อเมริกา จึงเป็นเหตุทำให้หุ้นทั่วโลกตกลงมาเป็นการยุติการพุ่งขึ้นอย่างรุนแรงมหาศาลในช่วงโควิดก่อนหน้านี้ที่ขึ้นไปด้วยกำลังของการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ จึงอาจกล่าวได้ว่าในช่วงต่อไปนี้อาจจะเป็นช่วงที่เป็นขาลงของหุ้นแบบจริงจังนั่นเอง แต่ก็อาจจะมองได้ว่ามันเป็นการรักษาสมดุล โดยที่การขึ้นไปของราคาหุ้นในสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้เป็นการขึ้นแบบที่เกิดจากการสร้างขึ้นมา ไม่ได้เป็นไปตามกลไกของตลาด โดยอาจจะมองว่ามันกลับสู่สภาวะตามธรรมชาติของมันนั่นเอง ซึ่งการกลับสู่สภาวะตามธรรมชาตินี้ถ้าหากเรามองในมุมมองของประชาชนคนอเมริกันแล้วก็จะมองเห็นว่าเป็นเรื่องที่ไม่สู้ดีนัก เพราะเศรษฐกิจก็อาจจะแย่ลงตามธรรมชาติของกลไกตลาด จึงทำให้รัฐบาลของสหรัฐอเมริกานั้นดำเนินนโยบายทางการเมืองและการทหารอย่างแข็งขันมากขึ้นในช่วงนี้ ไม่ว่าจะเป็นการกระชับไมตรีกับประเทศที่ได้ผลประโยชน์ หรือสนุนการทำสงครามซึ่งก็จะทำให้มีรายได้เข้ามาสู่ประเทศและบริษัทอเมริกันด้วย นี่จึงเป็นตัวอย่างของการดำเนินนโยบายทางการค้าและการเมืองควบคู่กันไปในระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งเกี่ยวข้องกับเงินทุนและเศรษฐกิจเพราะว่ารัฐบาลของแต่ละประเทศนั้นมีจุดประสงค์ที่จะทำให้เศรษฐกิจของตัวเองมีการเจริญเติบโต มีการจ้างแรงงานในระดับเต็มที่ มีเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม และระดับการค้ามีความสมดุลกัน หรือได้ดุลการค้าจากประเทศอื่น ซึ่งเหล่านี้นั้นจะได้มาได้ก็ด้วยการที่มี นโยบายทางการค้าที่แข็งแรงและเศรษฐกิจดีจากการสร้างสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการของตลาดโลก แต่คำถามว่าสินค้าและบริการที่เป็นที่ต้องการนั้นมีหน้าตาเป็นอย่างไร เราก็ไม่สามารถตอบได้แบบตรง ๆ นัก บางครั้งจึงมีการสร้างอุปสงค์เทียมขึ้นมาจากการสร้างสถานการณ์ต่าง ๆ ถ้าเราเปรียบเทียบให้ดีแล้ว เราจะเห็นได้ว่าการที่อเมริกาผู้เป็นพี่ใหญ่ในระบบเศรษฐกิจโลกนั้นกำหนดนโยบายทางเศรษฐกิจและการเงินใด ๆ ก็จะส่งผลต่อประเทศอื่น ๆ ทั่วทั้งโลก ถ้าหากมองและวิเคราะห์ให้ดีแล้ว เมื่อเทียบกับประเทศไทย ในช่วงโควิดที่ผ่านมานั้นประเทศไทยค่อนข้างประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจมากมายจากรายได้ที่ลดน้อยลง จากการท่องเที่ยวที่ซบเซาลงไป รวมไปถึงการนำเข้าและส่งออกที่ลดตัวลง แต่ในด้านสหรัฐอเมริกานั้นมีเศรษฐกิจที่ยังคงดีอยู่จากการที่มีนโยบายผ่อนปรนทางการเงิน ทำให้มีเงินเข้ามาในระบบเศรษฐกิจมากมาย รวมถึงการที่มีระดับเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นสูงนั้นทำให้ราคาสิ่งของต่าง ๆ ในสหรัฐปรับตัวสูงขึ้นมากมายมหาศาล แต่การที่มีเงินเฟ้อในระดับนี้นั้นอัตราการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศก็ควรที่จะลดน้อยลงแต่ก็ไม่ได้ลดน้อยลงมากมายนักเมื่อเทียบกับระดับเงินเฟ้อในระบบเศรษฐกิจ การที่สหรัฐอเมริกามีการปรับขึ้นของดอกเบี้ยนั้นก็ทำให้เงินทุนไหลออกจากประเทศไทยไปสู่รัฐอเมริกาทำให้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตรานั้นยิ่งปรับสูงมากขึ้นไปอีก ยิ่งทำให้ประเทศไทยนั้นเสียเปรียบในเวทีการแลกเปลี่ยนเงินตรามากขึ้นไปอีก แต่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกาสามารถทำแบบนี้ได้นั้นก็เป็นเพราะมีอำนาจทางการทหารที่สูง และระบบเศรษฐกิจโลกยังเชื่อมโยงกับสหรัฐอเมริกาอย่างมาก ถ้าอเมริกาประสบปัญหาเศรษฐกิจ ทั้งโลกก็อาจจะประสบปัญหาเศรษฐกิจตามไปด้วย ดังนั้นจึงเป็นช่องว่างในการที่รัฐบาลของสหรัฐอเมริกาใช้ในการควบคุมเศรษฐกิจโลกนั่นเอง

แต่ในปัจจุบันมีการไหลเวียนของเงินทุนอยู่ทั่วโลก ดังนั้นการที่เงินทุนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกามีปริมาณลดน้อยลง เงินทุนเหล่านี้ก็ย่อมต้องหาที่ลงทุนเพื่อให้ได้กำไรกลับมามากมากขึ้นเหมือนเดิม แหล่งลงทุนจึงตกไปอยู่ที่ประเทศกำลังพัฒนาผู้ที่เป็นประเทศที่มีโอกาสในการเติบโตของเศรษฐกิจสูง ซึ่งในปัจจุบันก็อาจจะจับตาไปที่ประเทศอินเดียและประเทศเวียดนามนั่นเอง เพราะประเทศเหล่านี้มีประชากรจำนวนมากและมีการเติบโตทั้งในด้านของ infrastructure และอุตสาหกรรมขั้นพื้นฐานเพื่อรองรับการเจริญเติบโตของประชากรนั้นเอง ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าประเทศเหล่านี้ที่มีทั้งจำนวนคนและมีช่องว่างในการเติบโตไปสู่การเป็นประเทศกำลังพัฒนาในระดับต้น ๆ นั้นมีโอกาสสูงมากที่จะเป็นแหล่งลงทุนของเงินทุนในต่างประเทศ ซึ่งบางครั้งประเทศที่อยู่รอบข้างหรือมีลักษณะคล้ายกับประเทศเหล่านี้ โดยที่มีการเจริญเติบโตมาก่อนไม่ว่าจะเป็นประเทศไทยหรือมาเลเซียก็อาจจะได้รับผลกระทบจากการเคลื่อนไหวของเงินทุนนั่นเอง

ทั้งนี้การที่เงินทุนไหลออกจากประเทศหนึ่งไปสู่อีกประเทศหนึ่งนั้นย่อมต้องมีการชดเชยเพื่อให้มีการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจดำเนินได้ต่อไป ซึ่งนโยบายหลักของการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากประเทศหนึ่งไปสู่ประเทศหนึ่งนั้นก็อาจจะเกี่ยวพันกับระดับของธุรกิจก็เป็นไปได้ โดยที่บางครั้งการที่ประเทศที่มีค่าแรงถูกก็อาจจะเป็นประเทศที่ได้รับการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ไม่มีเทคโนโลยีมากมายนัก ในทางกลับกันประเทศไทยซึ่งก่อนหน้านี้รับจ้างผลิตในอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีไม่สูง ก็อาจจะปรับเปลี่ยนไปเป็นการผลิตสินค้าและบริการที่มีเทคโนโลยีมาเกี่ยวข้องในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งก็อาจจะเป็นข้อดีอีกประการหนึ่ง ซึ่งทำให้แรงงานในประเทศไทยมีทักษะที่สูงมากขึ้น ระดับเศรษฐกิจที่สูงมากขึ้นกลายเป็นระบบเศรษฐกิจขั้นสูงที่มีเทคโนโลยีเฉพาะ ถ้าหากผู้ประกอบการไทยสามารถนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาใช้ในการสร้างสรรค์องค์กรต่าง ๆ ในประเทศมีแบรนด์สินค้าที่เป็นของคนไทยเองในระดับสากลที่มีคุณภาพสูง ทั้งในด้านวัสดุ เทคโนโลยี รวมไปถึงการมีบริการที่ดี ก็จะทำให้มีความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจมากขึ้น ซึ่งถ้าหากมีระดับของการพัฒนาเช่นนี้ต่อไปเรื่อย ๆ ก็อาจจะทำให้ประเทศไทยนั้นกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วก็เป็นไปได้

แต่เรื่องทั้งหลายเหล่านี้ก็ย่อมขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่าจะมีการส่งเสริมการลงทุนเพื่อให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากต่างประเทศสู่ประเทศไทยได้อย่างไร และทำให้องค์กรของไทยเติบโตเคียงข้างกับองค์กรต่างชาติได้อย่างไร โดยที่เราจะไม่เป็นประเทศที่เป็นฐานของแรงงานในการผลิตอย่างเดียว เพราะการเป็นฐานแรงงานเพียงอย่างเดียวโดยที่ไม่มีการถ่ายโอนเทคโนโลยีนั้นไม่มีประโยชน์เท่าใดนัก เพราะเงินทุนก็ย่อมไหลไปสู่เศรษฐกิจที่มีความมั่นคงและมีค่าแรงถูกซึ่งก็จะทำให้มีกำไรมากกว่าประเทศที่ค่าแรงแพงเพราะจะทำให้ต้นทุนสูงนั่นเอง แต่ที่ผ่านมานั้นประเทศไทยค่อนข้างเป็นประเทศที่น่าสงสารตรงที่ว่าแม้จะมีอุตสาหกรรมจากต่างประเทศมากมายเข้ามาใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต ไม่ว่าจะเป็นในอุตสาหกรรมยานยนต์ เทคโนโลยี เครื่องใช้ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ แต่ก็ไม่ได้ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเหล่านั้นมากขึ้นเท่าไหร่นัก ไม่ได้มีแบรนด์สินค้าหรือเป็นเจ้าของยี่ห้อสินค้าที่ทำให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีและเศรษฐกิจเท่าไหร่นัก องค์กรขนาดยักษ์ส่วนใหญ่ของประเทศไทยนั้นก็ขึ้นอยู่กับอุตสาหกรรมที่ค่อนข้างจะเป็นพื้นฐานไม่ว่าจะเป็นน้ำมัน อาหาร เครื่องดื่ม การท่องเที่ยว หรือว่าการเงิน การธนาคารเท่านั้นเอง ไม่ได้มีบริษัททางด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่สามารถแข่งขันกับประเทศที่พัฒนาแล้วได้ ประเทศที่พัฒนาแล้วบางครั้งแทบจะไม่ได้เป็นประเทศที่ผลิตสินค้าเองเลย เน้นไปที่การเป็นศูนย์รวมของการทำวิจัยและพัฒนาต่าง ๆ โดยดึงดูดคนเก่ง ๆ จากทั่วโลก โดยมีอุตสาหกรรมที่แข็งแกร่งรองรับมีรายได้ดี มีเครื่องมือในการสนับสนุนมากมาย เพียงแต่คิดประดิษฐ์ผลิตภัณฑ์ออกมาแล้วจดสิทธิบัตรต่าง ๆ เพื่อป้องกันคนอื่นมาลอกเลียนแบบ เมื่อคนอื่นลอกเลียนแบบไม่ได้ก็เลือกแหล่งฐานการผลิตที่ราคาถูกและมีประสิทธิภาพมากที่สุด จึงทำให้ได้เงินทองโดยไม่ต้องปวดหัวกับเรื่องกระบวนการผลิตเลยแม้แต่นิดเดียวซึ่งประเทศที่เป็นฐานการผลิตนั้นก็ต้องยอมทำตามเพราะไม่สามารถมีอะไรไปต่อรองได้ เพราะว่าประเทศพัฒนาแล้วเหล่านั้นเป็นผู้ถือสิทธิบัตรต่าง ๆ รวมถึงการมีแบรนด์ต่าง ๆ ก็สามารถช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างแข็งแกร่งได้ ตรงกันข้ามกับประเทศที่เป็นฐานการผลิตที่ต้องมีการเอื้อเฟื้อในเรื่องของภาษีต่าง ๆ เพื่อเป็นแรงกระตุ้นให้บริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนทั้งนั้น ถ้าหากประเทศไทยต้องการจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ก็ควรที่จะต้องเริ่มด้วยการเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ จากต่างประเทศ กำหนดนโยบายการสนับสนุนบริษัทต่าง ๆ ของไทยให้มากขึ้น โดยมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าไม่มีสัญญาการถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้วเราก็จะเป็นเพียงประเทศที่รับจ้างผลิตอย่างเดียว และรอวันที่จะแข่งกับประเทศอื่นที่ด้อยกว่าในอดีตซึ่งมีค่าแรงงานถูกกว่า และอาจจะเป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติในอนาคตเมื่อค่าแรงของเราสูงขึ้นเรื่อย ๆ

อย่างไรก็ตามหลังจากช่วงโควิดที่ผ่านมานี้ ประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นศรีลังกา ลาวหรือประเทศอื่น ๆ ก็มีปัญหาในเรื่องของหนี้สินจำนวนมาก มีเงินคงเหลือแทบจะไม่พอจ่ายกับสินค้านำเข้าทั้งหลาย จึงเป็นไปได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาระดับเล็กถึงกลางอาจจะมีปัญหาเรื่องของความมั่นคงทางด้านการเงินเกิดขึ้น ดังนั้นเงินทุนก็อาจจะไม่ไหลไปสู่ประเทศเหล่านี้และอาจจะมีวิกฤตการเงินเกิดขึ้นได้หากมีความเกี่ยวพันทางเศรษฐกิจกับประเทศอื่นอย่างมาก ซึ่งก็เป็นเรื่องของนโยบายทางการจัดการกับการเงินและการลงทุนของประเทศเหล่านี้ว่าจะต้องทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศคงอยู่โดยที่มีรายได้กลับเข้ามาสู่ประเทศ ให้มีเงินมีทองอยู่ในเวทีระดับสากลอีกครั้ง

ประเทศไทยเองแม้ว่าสถานะทางเศรษฐกิจก็ไม่ได้ถึงกับแย่มากแต่ก็ต้องมีการวางแผนเผื่ออนาคตไว้ด้วย โดยเฉพาะการลงทุนทางด้านการศึกษาต่าง ๆ เพราะว่าในปัจจุบันนั้นระดับการศึกษาของประเทศไทยนั้นมีคุณภาพที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับระดับสากล เราจึงต้องมีการพัฒนาในด้านนี้ด้วย การใช้งบประมาณอย่างถูกต้องการพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ เป็นเรื่องสำคัญถ้าหากเราใช้งบประมาณของประเทศกับการสร้างพัฒนาบุคลากรต่าง ๆ ให้มีความรู้ความสามารถขึ้นมาและมีอุตสาหกรรมรองรับ มีผลตอบแทนที่เหมาะสมจนการย้ายไปต่างประเทศไม่ได้เป็นทางเลือกที่น่าสนใจอีกต่อไป ประเทศไทยก็จะเริ่มต้นเป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ ซึ่งเราทุกคนในฐานะคนไทยนั้น ก็ควรให้ความสำคัญกับการใช้งบประมาณภาษีที่เราจ่ายไปจากน้ำพักน้ำแรงที่เราสร้างมาเพื่อให้เราได้ประโยชน์กลับมามากที่สุด  

Advertisement
Previous articleFWD ประกันชีวิต ร่วมงาน Thailand InsurTech Fair 2022
Next articleทิพยประกันภัย จัดทีมลงพื้นช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมจ.อุบลราชธานี อย่างต่อเนื่อง

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here