ตั้งใจว่า… ชีวิตนี้มีแต่ให้ (Setting a life’s goal: Giving is living)
ผู้บริหารจำเป็นต้องมีทั้งศาสตร์และศิลป์ หรือมีกลยุทธ์ในการบริหารงานโดยเน้น งานก็ได้ผล คนก็เป็นสุข ให้คนในหน่วยงานมีความสำราญ หรือมีขวัญกำลังใจในการทำงาน ซึ่งจะส่งผลต่อผลสัมฤทธิของงานในองค์กรในจุดหมายปลายทาง มาทำความรู้จักผู้บริหารสถานศึกษา เช่น รศ.ดร.สมชาย สันติวัฒนกุล อธิการบดี มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ผู้บริหารองค์กรที่ใช้หลักธรรม “ พรหมวิหารธรรม ” ในการบริหารคนบริหารงาน
ประวัติการศึกษา และ การทำงาน
“ ประวัติการศึกษา ผมจบมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนอำนายศิลป์พระนคร พ.ศ. 2521 และเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรี ที่ คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดลจนสำเร็จการศึกษาปีพ.ศ. 2525 หลังจากนั้นศึกษาหลักสูตรมหาบัณฑิตพยาธิวิทยาคลินิก ที่คณะแพทยศาสตร์ รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนจบในปี พ.ศ. 2529
…วันที่ 1 ตุลาคมปี พ.ศ. 2529 เริ่มเข้าทำงานที่ คณะแพทยศาสตร์ มศว ซึ่งตอนนั้นคณะแพทย์ ฯเพิ่งเริ่มต้นตั้งเป็นคณะเมื่อปี พ.ศ. 2528 ในปีพ.ศ. 2534ได้เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ ในช่วงเวลาตั้งแต่เข้ามาทำงานในคณะแพทย์ได้ทำงานด้านกิจการนิสิตมาโดยตลอดเริ่มตั้งแต่อาจารย์ที่ปรึกษาสโมสรนิสิตคณะแพทยศาสตร์จนเป็นผู้ช่วยคณบดีฝ่ายกิจการนิสิต จนกระทั่งปี พ.ศ. 2536 รับทุนทบวงมหาวิทยาลัย หรือ UDC และปี พ.ศ. 2537 จึงเดินทางไปศึกษาต่อปริญญาเอกสาขา Microbiology ที่ Virginia Tech หรือเรียกว่า VIP (Virginia Polytechnic Institute and State University) ที่สหรัฐอเมริกา หลังจากจบกลับมา ปีพ.ศ. 2541ซึ่งใช้เวลาเพียง 4 ปีเท่านั้น
…ในปี พ.ศ. 2541 รับตำแหน่งบริหารเป็นรองคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต ในปี พ.ศ. 2542 ได้เป็นรองศาสตราจารย์ หลังจากนั้นได้รับตำแหน่งบริหารอื่นๆ คือ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและสารสนเทศ รองคณบดี ฝ่ายวิจัยและวิเทศสัมพันธ์ ต่อมาปี พ.ศ. 2551 ได้รับการสรรหาคัดเลือกให้เป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เริ่มเป็นคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2551 ทำอยู่ 4 ปี แล้วก็ได้รับการสรรหาเป็นสมัยที่ 2 จนถึงปี พ.ศ. 2558 ได้รับสรรหาเป็นอธิการบดี ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558 โดยรักษาการเพื่อรอโปรดเกล้า จนได้รับการโปรดเกล้าเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ซึ่งเป็นช่วงที่ มหาวิทยาลัยออกนอกระบบเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐแล้ว ซึ่งในช่วงการดำรงตำแหน่งนี้ จะมีการเปลี่ยนแปลงมากมายหลายอย่างด้วยกัน นี่ก็เป็นประวัติคร่าว ๆ ของผม
ความจริงมีงานมากมาย ทำงานตั้งแต่อยู่คณะแพทย์ที่ตั้งแต่อยู่ วชิรพยาบาล 13 ปี ก่อนที่จะย้ายเข้ามาอยู่ที่ มศว ซึ่งอดีตคณะแพทย์กับวชิรพยาบาล ทำโครงการตั้งคณะแพทย์ร่วมกันกับ มศว จนกระทั่งปัจจุบันก็เป็น มศว เต็มตัว มีโรงพยาบาลอยู่ 2 โรงพยาบาล ที่ควบคุมดูแล ได้แก่ชลประทาน ซึ่งปัจจุบันชื่อโรงพยาบาลปัญญานันทภิกขุชลประทาน ภายใต้การกำกับดูแลของมหาวิทยาลัย และ โรงพยาบาลศูนย์การแพทย์สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มศว องครักษ์ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะแพทย์”
นโยบายในการนำพา มศว
“ ด้วยความจริงบอกได้เลยว่าจำนวนเด็กสมัยนี้มีจำนวนลดน้อยลง เพราะฉะนั้นพอเด็กลดลง โอกาสที่เด็กจะมาเรียนที่เรา ก็จะน้อยลงไปเรื่อย ๆ และ Strategy ที่เราต้องทำคือ
อันดับที่ 1. เราต้องหาคนที่จะมาเรียน เป็นอันดับแรก แต่การที่เราจะหาคนที่มาเรียนได้หลักสูตรเราต้องเป็นหลักสูตรที่จูงใจ เป็นที่เอกชนเขาอยากรับเด็กเราเข้าทำงาน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องร่วมกับเอกชน เพราะว่า ในต่างประเทศ เขาทำงานร่วมกับเอกชนมากมายเลย พอเราเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับเรามีโอกาสและสามารถที่จะทำได้ ซึ่งถ้ายังเป็นระบบราชการจะทำได้ยาก การส่งเสริมให้เด็กไปฝึกงาน ซึ่งเราเรียกว่า สหกิจศึกษา เป็นหนทางที่ทำร่วมกับภาคเอกชน เรายังต้องปรับปรุงหลักสูตรของเรา เพราะว่าเด็กสมัยนี้บางทีเวลาเขาเรียน เขาอยากเรียนอะไรที่เขาต้องการ ต้องการเรียนสิ่งที่จะให้เขาเป้นเจ้านายของตัวเอง
… เพราะฉะนั้นเราก็ต้องปรับตัวพอสมควร ซึ่งเราก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ มีการพูดคุยกันในกลุ่มผู้บริหาร ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น ก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนหลักสูตร แต่การเปลี่ยนแปลงมาก ๆ ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะว่าเราก็มีกฎระเบียบของ สกอ. ที่ควบคุมเราอยู่ ทำให้มันไม่สามารถที่จะทำในสิ่งที่เราคิดได้อย่างเต็มที่ เราเคยคิดว่าเราจะทำอย่างไรให้หลักสูตรของเรา เป็นหลักสูตรที่คนที่ยังไม่อยากจะมาเรียนปริญญาโท หรือปริญญาเอก แต่ว่าอยากเอาความรู้ไปใช้ก่อน เราก็จัดแยกออกมาเป็นกลุ่ม ๆ เรียกว่าเราให้เป็น Certificate มาเรียนเทียบแล้ว ได้กี่หน่วยกิต เรียนหลาย ๆ ตัว หลาย ๆ หลักสูตร รวมกัน แล้วก็สามารถมาขอปริญญาโท หรือปริญญาเอกต่อไปได้ในอนาคต เพราะฉะนั้นตรงนี้ ก็จะสามารถทำให้คนที่เรียนรู้สึกว่าเรียนแล้วอันที่ 1 ได้ความรู้ เอาไปใช้ได้ในระดับหนึ่ง เรียนอันที่ 2นำไปใช้เพิ่มเติมได้ เรียนอันที่ 3 เรียนแล้วได้ความรู้ไปใช้ได้ เอามารวม ๆ กันแล้วได้หน่วยกิต ถึงปริญญาโท มาเรียนเพิ่มเติมและทำวิจัย ก็จะได้ปริญญาโทไป ก็เป็นสิ่งที่จูงใจสำหรับเขา
อันที่ 2. คือเรื่องของการศึกษาออนไลน์ ซึ่งตอนนี้เรากำลังคิดกันอยู่ว่า เนื่องจากเราเป็นมหาวิทยาลัย ที่เริ่มในเรื่องของการเรียนการสอนครู เรียกได้ว่า ครูทั้งประเทศส่วนใหญ่ในอดีตจะเป็นครูที่จบจากประสานมิตร เพราะฉะนั้นเรามีหลักสูตรศึกษาศาสตร์ผลิตครู หลักสูตรประกาศนียบัตร วิชาชีพครู ซึ่งหลักสูตรนี้ เราก็มีทั้งหลักสูตรที่สอนเป็นภาษาไทย และภาษาอังกฤษ จะตอบสนองความต้องการให้กับพวกโรงเรียนที่มีครูที่เป็นครูต่างชาติก็สามารถที่จะมาเรียนได้
…ในระบบภาษาไทยนี้ เรากำลังคิดอยู่ว่า ถ้าเราสามารถทำได้ เราจะตั้งเป็นระบบออนไลน์ ให้ศึกษาทางออนไลน์ทางไกล เมื่อศึกษาทางออนไลน์เสร็จ ในช่วงปิดเทอมของโรงเรียนนั้นเขาก็สามารถที่จะเดินทางมาคุยกับอาจารย์ที่ปรึกษาได้ เพราะฉะนั้นในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพครู จะสามารถเปิดให้กับครูทั้งประเทศ ผมเข้าใจว่าครูในต่างจังหวัด เขาไม่มีโอกาสที่จะได้ลามาศึกษาต่อหรือมาเรียนเพิ่มเติม ถ้าหากเขาใช้เวลาว่างตอนเย็น ได้มาเรียนหลักสูตรออนไลน์ของเราได้ ก็จะเพิ่มศักยภาพของเขาในเรื่องของการเรียนการสอนได้ดีขึ้น แล้วแถมเวลาของเขาปิดเทอมแล้วมาหาครูบาอาจารย์ที่ มศว ก็จะทำให้เขามีแนวคิดใหม่ ๆ หรือสามารถปรึกษาในเรื่องปัญหา และวิธีแก้ไขในการเรียนการสอนได้ อันนี้มันก็จะเป็นสิ่งที่เรากำลังดำเนินการอยู่ครับ ”
นึกถึง มศว ต้องนึกถึง…
นึกถึงการผลิตครู เพราะเป็นสถาบันที่เริ่มก่อตั้งด้วยโรงเรียนฝึกหัดครูชั้นสูงก่อตั้งโดยหม่อนหลวงปิ่นมาลากุลตามกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนกลายเป็นวิทยาลัยวิชาการศึกษา และกลายเป็นมหาวิทยาลัยในปี พ.ศ. 2517 มีคณะศึกษาศาสตร์ และคณะอื่นๆที่ผลิตครูร่วมกัน ซึ่งเป็นคณะที่เริ่มต้นด้วยองค์ความรู้นี้ก่อนเลยในประเทศ เพราะฉะนั้นในองค์ความรู้อันนี้มันได้ขยายไปแล้ว นับว่าเป็นความแข็งแกร่ง เวลาคิดถึงครู สิ่งแรกที่คิดถึง ก็คือประสานมิตร ครูเก่า ๆ ส่วนใหญ่ ก็จบประสานมิตร เพราะฉะนั้นอันนี้เราก็มีความแข็งแกร่งพอสมควรในด้านนี้ นอกจากนั้นเรายังมีอีกหลายคณะ เพราะว่ามหาวิทยาลัยเราเป็น Comprehensive University เพราะฉะนั้นเราก็จะมีความหลากหลาย “ จริง ๆ เรามีหลายโครงการ อย่างโครงการที่ฮิตอยู่ ณ.ปัจจุบันนี้ อย่างเช่น โครงการของวิทยาลัยนวัตกรรมสื่อสารสังคม ซึ่งเป็นคณะที่เป็นที่นิยมเป็นยอดฮิตมาก เป็นโครงการแนวใหม่โดยการเอาดิจิตอลเข้ามาใช้ในกลุ่มของการสื่อสาร การสื่อสารของเราจึงมีการศึกษาหลายอย่าง การสื่อสารทำเรื่องเกี่ยวกับสังคม การสื่อสารเกี่ยวกับการท่องเที่ยว การสื่อสารเกี่ยวกับเรื่องของสุขภาพ แม้แต่เรื่องของการทำเป็น Digital Movie ซึ่งตอนนี้เรากำลังไปเจรจากับ หัวเหว่ย (Huawei) เพื่อจะมี MOU กับหัวเหว่ย ในส่วนของการแสดงทางคณะศิลปกรรม เราก็เด่น มีพวกนักแสดง ดารา เข้ามาอยู่ในสังกัดเยอะ เช่น “เบนซ์ พรชิตา ” หรือ “ เจมส์ ” เขาก็จบการศึกษาจาก มศว กันทั้งนั้น
…ข้อสำคัญก็คือว่า ในปัจจุบันเราพยายามทำให้หลักสูตร เป็นหลักสูตรที่เป็นความต้องการของสังคมจริง ๆ เป็นหลักสูตรที่เด็ก ๆ ต้องการจะเรียนจริง ๆ ในอนาคตถึงกับดีไซน์ไว้ว่าถ้าเป็นไปได้เราก็จะจัดเป็นหลักสูตรเป็นชุด ๆ แล้วเด็กก็สามารถที่จะเลือกเรียน แล้วก็มาจบปริญญาได้ตามหลักสูตร ที่ชื่อนั้น ชื่อนี้ได้ อันนี้ก็ต้องไปดีไซน์ในอนาคตอันใกล้นี้ เราคงต้องรีบทำ เพราะว่าในลักษณะของนิสัยเด็กในปัจจุบันนี้เขามีความรู้สึกว่าเขาอยากเป็นนายของตัวเอง ความอดทนในการเรียนค่อนข้างจะต่ำกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้นก็ต้องมีเทคนิคในการเรียนการสอนที่ดี นอกจากนี้มหาวิทยาลัยของเรา เราสอนให้เด็กของเรา มีจิตสาธารณะ ช่วยเหลือคน มีความอดทน อดกลั้น และมีความอ่อนน้อมถ่อมตน อันนี้เป็นลักษณะพิเศษของเด็ก มศว ของเราเป็นส่วนใหญ่ แล้วเด็ก ๆ ของเราสามารถที่จะไปอยู่กับองค์กรต่าง ๆ ได้อย่างสบาย ๆ เพราะทุกคนที่เราส่งไปทำสหกิจศึกษาได้รับคำชมว่าเป็นเด็กขยัน เอาการเอางาน อันนี้เป็นข้อดี ในส่วนของจิตสาธารณะ ก็มีการช่วยเหลือกันและกัน ไปงานค่าย ไปสร้างฝาย ซึ่งเราปลูกฝังเรื่องพวกนี้ไว้พอสมควร เพราะฉะนั้นเด็ก ๆ ของเราก็จะมีลักษณะที่จำเพาะเจาะจงพอสมควรเลยทีเดียว ”
การปรับตัวของ มศว กับเทคโนโลยีดิจิตอล
“ ตอนนี้ทางการศึกษาของเรา เราทำให้มันเป็น Active Learning เรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะฉะนั้นทุกสิ่งทุกอย่าง เราจะเอาขึ้นในอินเตอร์เน็ตหมด ทุกสิ่งทุกอย่างจะพยายามทำให้ขึ้นอยู่ในเน็ต ซึ่งเด็กสามารถจะหาข้อมูลได้ เราพยายามเน้นเรื่องเนื้อหา เด็กสามารถหาเรียนรู้เองได้จากสิ่งที่อาจารย์เขาส่งขึ้นเว็บต์ แต่ว่าสิ่งที่เราจะสอนเป็นเรื่องของเทคนิค เรื่องอะไรต่าง ๆ ที่สามารถถกปัญหากัน มาคุยกันได้ ในส่วนของเนื้อหานั้น จะหาที่ไหนก็หาได้ทั้งนั้น แต่วิธีการการเสริมสร้างปัญญาต่าง ๆ เราจะสอนให้เด็กให้มีเชาว์ปัญญาดีขึ้นนะครับ เราต้องการคนดีก่อน เพราะว่าเมื่อมีคนดีแล้ว เราสอนให้เก่งสอนได้ง่ายครับ ถ้าเด็กเก่งแล้วแต่ไม่ดี มันก็จะทำให้เกิดความเสียหายกับสังคมได้ จะเอารัดเอาเปรียบ โกง ซึ่งไม่เป็นที่ต้องการของสังคม เราพยายามสอนเด็ก โดยเฉพาะเรามีกลุ่มองค์กรที่ว่า “ กลุ่มต้านโกง ” ซึ่งเป็นกลุ่มที่เข้มแข็ง หรือกลุ่มที่ว่า “ เมาไม่ขับ ” ก็มีคนที่เป็นหัวหน้าในส่วนของสโมสรนิสิต โดยเฉพาะของคณะสังคม ซึ่งเป็นเรี่ยวแรงที่สำคัญมากพอสมควรในการทำครั้งนี้ ”
การเตรียมความพร้อมของนิสิตให้แข่งขันกับตลาดโลก
“ คำว่าเราแข่งขันกับตลาดโลกนี้ เราก็ต้องมองหลายมิติ ว่าเราจะเอาอะไรไปแข่งขันกับเขานะครับ เพราะว่าตอนนี้โลกเราไปทางด้านดิจิทัลค่อนข้างเยอะ ต้องมีความรู้ในเรื่องของเน็ตและ application ที่ใช้พอสมควร และสามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่าง ๆ ที่มันเกิดขึ้นในโลกนี้ได้ การสร้าง Cloud การฝากข้อมูลใน Cloud ที่เป็น Private หรือเป็น Public อย่างนี้และสามารถดึงข้อมูลได้ไหม อย่างเช่นในกรณีของบัตรประชาชน ซึ่งเขาบอกว่าสามารถดึงข้อมูลบางส่วนได้ แต่ไม่ได้ดึงได้หมดเพื่อที่จะช่วยในเรื่องของวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคต่าง ๆ อย่างนี้ เขาก็มีการอนุญาตบ้างแต่ไม่ทั้งหมด
…การที่เราจะไปแข่งขันนั้น 1. เราต้องวางระบบดิจิทัลต้องดีพอสมควร 2. ภาษา ภาษาเป็นเรื่องสำคัญมาก และผมมองว่าไม่ใช่เรียนรู้เรื่องภาษาอังกฤษอย่างเดียว ในปัจจุบันภาษาจีนสำคัญมาก ผมมองถึงการลงทุนว่า การลงทุนถ้าลงทุนที่จีน สมมติจีนมีจำนวนประชากรอยู่ 1,300 ล้านคน แค่คนจีนซื้อของเราคนละหยวนเท่านั้นนะ ก็มีรายได้ 1,300 ล้านหยวน เข้าไปแล้วใช่ไหมครับ ถ้าเราลงทุนแบบนี้ได้ มีการปฎิสัมพันธ์ในเรื่องของการค้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนจีนชอบประเทศไทยมาก ก็เพราะว่าวัฒนธรรมใกล้เคียงกัน อาหารการกินใกล้เคียงกัน เพราะฉะนั้นเราไปนี้ เราจะสามารถไปสื่อสารทำความรู้จักและภาษานี้สำคัญมาก โดยเฉพาะภาษจีน ถ้าเราสามารถพูดภาษาจีนกับเขาได้มันก็จะเป็นสื่อที่จะทำอะไรก็ได้ แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าจะโดดเดี่ยวที่จะทำใหญ่ ๆ เราจะต้องร่วมมือกับเขาทำ เพราะบางครั้งเราไม่รู้ธรรมเนียมของเขา
…เราจะต้องมี Partner ที่จะทำร่วมมือกัน เพราะฉะนั้นการที่เราจะไปแข่งขันที่ยุโรปหรืออะไรต่าง ๆ พวกนี้บางทีก็ยาก เพราะจะต้องจบที่นั้นมาถึงจะแข่งขันได้ แต่ถ้าหากเฉพาะไทยอย่างเดียวนั้นก็ยาก แม้แต่แพทย์ไทยเองจบที่นี้ไม่ได้หมายความว่าจะไปทำงานที่อื่นได้ ต้องไปสอบใบอนุญาตวิชาชีพของต่างประเทศด้วย ต้องไปสอบ U-Smile 1, 2 ต้องไปเรียน Resident ที่โน่นและจบออกมาและทางนั้นถึงจะยอมรับเรา แต่ของในต่างประเทศที่เป็นกลุ่มอาเซียนด้วยกันก็อาจเป็นที่ยอมรับได้มากกว่ากันเมื่อเทียบกับกลุ่มของยุโรป หรือในกลุ่มของอเมริกา หรือกลุ่มอื่น ๆ ไทยเรายังติดกับดักหลายอย่างในเรื่องของการศึกษา คาดว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงที่น่าจะเป็นรูปธรรมมากขึ้นในอนาคต ”
จุดมุ่งหมาย มศว เปิดตัวกิจกรรมโดนใจนักวิ่ง “หนองแสง LIGHT & RUN 2018” ชมแสงริมเขื่อน วิ่งไปกับธรรมชาติและวัฒนธรรม
“ หนองแสง LIGHT & RUN คือหนองแสงอยู่ใกล้กับเขื่อนขุนด่านปราการชล หนองแสงเป็นตำบลหนองแสงที่เราเข้าไปทำวิจัยทางด้านวิชาการ ทำกิจกรรมเพื่อสังคม เราไปตั้งโรงเรียนผู้สูงอายุ จนกระทั่งสำเร็จ และเราไปดูเรื่องการประกอบวิชาชีพต่าง ๆ ไปส่งเสริมอะไรต่างๆเหล่านี้ซึ่งเป็นหน้าที่ของเรา เพราะว่ามหาวิทยาลัยเรามี มศว องครักษ์ อยู่ดูแลนครนายก เป็นนโยบายของรัฐบาลว่า 1 มหาวิทยาลัย 1 จังหวัด แต่ว่าเราไม่ได้ดูแลแค่ 1 จังหวัด แต่เรายังได้ไปดูแลที่จังหวัดสระแก้วด้วย เพราะว่าเรามี คณะโพธิวิชชาลัย อยู่ที่นั่น เราไปดูที่แม่สอด จังหวัดตากเพราะว่าเรามีศูนย์การเรียนรู้อยู่ที่แม่สอดนี้ ประมาณ 200 ไร่ เราก็ดูแลตรงจุดนั้น เราไปตั้งพิพิธภัณฑ์พื้นเมือง พวกปกากะญอ ซึ่งจะมีเรื่องเกี่ยวกับประวัติชนเผ่าต่าง ๆ และชนเผ่าที่อยู่ที่นั้น นอกจากนั้นเรายังมีโรงเรียนสาธิตแม่แจ่ม ที่อยู่จังหวัดเชียงราย เด็กส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าทั้งหมดเลย 3-4 ชนเผ่า มานั่งเรียนรวมกัน กินนอนอยู่ที่นั่น เราเรียกว่าโรงเรียนสาธิตสมเด็จย่า
… เพราะฉะนั้นโรงเรียนสาธิตของเรามีอยู่ 5 แห่ง ก็คือ สาธิตประถมที่ประสานมิตร สาธิตมัธยมที่ประสานมิตร สาธิตที่ปทุมวัน สาธิตที่องครักษ์ อันสุดท้ายสาธิตแม่แจ่ม หรือสาธิตสมเด็จย่า ซึ่งอันนี้เราก็ดูแลเต็มที่และตอนนี้ก็ได้สร้างตึกเรียนไว้ให้เรียบร้อย ในอนาคตจะเห็นว่าเราก็ไม่ได้ทอดทิ้งใครนะครับ ชนเผ่าเราก็ดูแล เราก็ดูแลเยอะเหลือเกิน เราก็สนุกกับงาน และมันเป็นเรื่องอะไรที่พัฒนาคน
…สำคัญเลยนะครับเรื่องการพัฒนาคน พัฒนาให้ดี ๆ ประเทศจะได้เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เราต้องพัฒนาเรื่องการศึกษาให้ดี แต่ในปัจจุบันเราจะสังเกตว่าคนที่ได้รับการศึกษาจริงนี้มีโอกาสน้อย เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราสามารถที่จะให้การศึกษาได้ทั่วประเทศ เราจะสามารถปลูกฝังในหลายๆเรื่องได้ เช่นการรักษาป่าและน้ำ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำตัวให้ห่างไกลจากยาเสพติด ไม่เสพไม่ขาย ถ้าเราทำสิ่งเหล่านี้ได้จะช่วยประเทศชาติได้มากทีเดียว ถ้าเราให้ความรู้กับเด็กที่เป็นเด็กชายขอบ เขาก็มีความรู้สึกว่าเขาเป็นไทย ฉะนั้นใครจะมารุกรานดินแดนเราก็จะทำได้ยาก อันนี้ก็สำคัญมาก ”
“ จริง ๆ แล้ว LIGHT & RUN หนองแสงนี้ เราต้องการโปรโมทเขื่อนขุนด่านปราการชลด้วยเพราะเขื่อนขุนด่านปราการชล สร้างมานานแล้ว เป็นแหล่งท่องเที่ยวเหมือนกันแต่ว่า พอเวลาพูดถึงการท่องเที่ยวแล้วก็ไปขุนด่านปราการชล แล้วก็ยังมองไม่เห็นมีอะไร เพราะฉะนั้นเราก็จัด LIGHT & RUN ให้ดูว่าการเกิดเขื่อนขุนด่านปราการชล เกิดขึ้นมาได้อย่างไร ในพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชบรมนาถบพิตร ซึ่งพระองค์ท่านมีพระราชดำริสร้างเขื่อนนี้เพื่อช่วยชาวนา เพราะที่นครนายกค่อนข้างแล้ง แต่ว่าก็จะปลูกข้าว แต่ข้าวนี้ดินมันก็เค็ม ฉะนั้นจะต้องปรับพื้นดินนี้ก็ค่อนข้างยากลำบาก มีประชากรที่นครนายก ตอนนั้นที่ผมมาตอนที่ มศว องครักษ์ ในปี 2543มีประชากรประมาณสองแสนกว่าคน ปัจจุบันเราก็เข้าไปช่วยไปจัดเรื่องการท่องเที่ยวให้เขา เพราะว่าเรามีคณะที่สอนเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยว อย่างคณะนวัตกรรมสื่อสารสังคมนี้สามารถออกแบบการท่องเที่ยวได้ เขาเข้าใจ ซึ่งเราเคยไปทำโครงการท่องเที่ยวไหว้พระ 9 วัดจังหวัดนครนายกมาแล้ว ทำโบว์ชัวร์ให้กับจังหวัดเรื่องการท่องเที่ยวในการไหว้พระ 9 วัดด้วย คณะนี้มีองค์ความรู้ช่วยในเรื่องนวัตกรรมของการสื่อสารโดยการนำดิจิทัลมาใช้ มาครั้งนี้เราก็จะให้เห็นความเป็นมาเป็นไปของเขื่อนขุนด่านปราการชลในภาคค่ำ และภาคเช้าจะเป็นการวิ่งซึ่งสามารถชมทิวทัศน์อันสวยงามตลอดการวิ่งด้วย
ฉะนั้นในการจัด LIGHT & RUN นี้ ก็เป็นนิมิตอันหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักขุนด่านปราการชลดีขึ้นว่าก่อกำเนิดขึ้นมาได้อย่างไร และช่วยชีวิตชาวนาได้อย่างไรบ้าง เพราะเราต้องสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลที่ 9 ของเราที่ทรงดำริโครงการนี้ขึ้นมาให้กับชาวนครนายก ฉะนั้นก็เลยมีเรื่องของ LIGHT & RUN เกิดขึ้น ร่วมกับจังหวัดนครนายก ครับ ”
หลักในการทำงาน
“ หลักการในการทำงานของผม คือ ถ้าจะเป็นเจ้านายคนจะต้อง 1. ปกครองคนด้วยธรรมะจะต้องมีพรหมวิหาร 4 ต้องมี เมตตา , กรุณา , มุทิตา และอุเบกขา การที่เราจะอยู่กับคนเยอะๆนี้มันแน่นอนที่สุดคือการบริหารคนไม่ใช่เรื่องง่าย พระพุทธเจ้าบอกว่าเมตตาชนะทุกสิ่ง เป็นหลักธรรมในการครองคน ครองใจของทุก ๆ คน นอกจากมีพรหมวิหารแล้วยังต้องมี ขันติ โสรัจจะ มีความอดทนอดกลั้นและละอายต่อการทำชั่ว ชีวิตนี้เกิดมาตายไปก็ไม่สามารถนำอะไรไปได้ซักอย่างนอกจากบุญและบาป จึงควรทำกรรมดีไว้เป็นบุญ ใช้ชีวิตอย่างพอเพียง ไม่ต้องมีความอยากเกิดขึ้น อยากมันเป็นตัณหา พอเราอยากเราจะรู้สึกอยากได้โน่นอย่างได้นี่ พอไม่ได้มันก็เกิดเป็นทุกข์ สู้อยู่เฉย ๆ ไม่มาก็ไม่ต้องมา ก็เป็นเรื่องของมัน แต่เรามีชีวิตมีกินมีใช้ มีที่อยู่ที่นอน จบแล้วพอแล้ว ชีวิตเราต้องการอะไรมาก
…ผมทำให้ทุกวันมีความสุขตลอดเวลา ตื่นขึ้นมาก็มีความสุขตลอดเวลา ถ้าใครตื่นมาแล้ววันไหนไม่อยากทำงาน แสดงว่าเริ่มชีวิตผิดพลาดแล้ว ผมตื่นขึ้นมาตั้งแต่ทำงานไม่เคยคิดเลยว่า ตื่นขึ้นมาแล้วไม่อยากทำงาน ไม่อยากไปเลย..ไม่มีเลย บางครั้งตอนที่อยู่คณะแพทย์นี้ผมมาแทบจะสิงอยู่โรงพยาบาลเลย นอนค้างอยู่ที่โรงพยาบาลเลย ดูแลนิสิต เพราะเมื่อสมัยก่อนร่วมทำกิจกรรมกับลูกศิษย์ด้วย ก็จะดูแลลูกศิษย์เหมือนลูก เพราะฉะนั้นเด็กรุ่นแรกๆส่วนใหญ่จะเรียกว่า “ ป๋า ” เพราะดูแลเขาเหมือนลูก และดูแลเขาอย่างดี เวลาหิวขนมเราก็มีขนมตุนไว้ในตู้เย็น เวลาเด็ก ๆ หิว เขามากินได้ เราก็ซื้อขนมฝากเด็ก ๆ อย่างนี้
…เพราะฉะนั้นชีวิตเราก็มีความสุขดีกับการทำงาน ที่ไม่ได้เป็นการทำงานด้วยความเคร่งเครียด เราเข้าใจ ปัญหาไม่ได้มีไว้ให้กลุ้ม แต่ปัญหามีไว้ให้แก้ แต่วิธีการแก้มีหลายแบบ บางเรื่องมันจะต้องใช้เวลาแก้ บางเรื่องจะต้องแก้ทันที เพราะฉะนั้นเราจะต้องรู้จักจังหวะและเวลาในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ครับ ”
“ การครองตนสำคัญมากเลย ตอนปี พ.ศ. 2542 ผมได้บวชที่วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นวัดธรรมยุต มีสมเด็จพระวัน (นิรันดร์ นิรนฺตโร) เป็นพระอุปัชฌาย์ บวชประมาณ 5 อาทิตย์ โดยอยู่อยู่ที่วัดเทพศิรินทราวาส 3 อาทิตย์ และไปอยู่ที่วัดป่านาคำน้อย อำเภอนายูง จังหวัดอุดรโดยมีพระอาจารย์อิททร์ถวายเป็นเจ้าอาวาส อยู่ประมาณ 2 อาทิตย์ ช่วงเวลาที่บวชได้ทำกิจของสงฆ์ตากกำหนด และยังหาความรู้จากพระไตรปิฎกฉบับแปล ซึ่งในความคิดที่เราอยากอ่านเพราะ ตอนเรียนที่อเมริกาได้ไปโบสถ์คริสต์กับอาจารย์ที่ปรึกษาเห็นเด็กๆที่นั่นมาศึกษาคัมภีร์ไบเบิ้ล เลยทำให้เกิดความคิดว่า ทำไมเราคนไทยจึงไม่ศึกษาพระไตรปิฎกบ้าง จึงอ่านจนจบเล่มพระไตรปิฎกฉบับประชาชน ในวันที่สึกจากการเป็นพระมาเป็นฆารวาสในใจคิดว่า ศีล 227 ข้อยังรักษาไว้ได้แล้วทำไมศีลเพียง 5 ข้อจะรักษาไม่ได้ วันที่สึกจึงกราบพระอุปัฌชาย์ว่าผมจะถือศีล 5 ตลอดชีวิต เลิกดื่มเหล้าเลย กระทั่งปัจจุบันนี้ก็ไม่ดื่มเหล้า เพราะเราถือศีล 5 และศีล 5 จะทำให้เราไม่ตกในอบายภูมิ ไม่ตกในที่ชั่ว และเทวดารักษา หนทางที่จะเกิดเป็นมนุษย์ในอนาคตหากจะต้องมาเกิดอีก สามารถเข้าไปในอริยทรัพย์ต่าง ๆ ได้อย่างเช่น เป็นโสดาบันเป็นเบื้องต้น ก็ด้วยต้องมีศีล 5 ผมไม่อยากตกนรก และไม่อยากเกิดด้วย มาในชีวิตนี้มาครั้งนี้สุดท้ายและตั้งใจว่าจะไม่เกิดอีกแล้ว ไม่อยากมาเกิดอีกแล้ว เพราะว่าเกิดทุกครั้งก็เป็นทุกข์ วนเวียนมา เรียนหนังสือ ทำงาน หมุนเวียนอยู่อย่างนี้สร้างความทุกข์ สร้างเวรสร้างกรรมอะไรต่าง ๆ เราถือว่าชีวิตนี้เราทำให้ดีที่สุด ทำสิ่งดี ๆ ไว้ คนจะได้ไม่ก่นด่าเราหลังจากที่เราตายไป ทำอะไรดี ๆ ไว้เยอะๆ อย่าไปทำชั่ว ทำแต่สิ่งดี ๆ ทำแต่คุณประโยชน์ให้คนอื่นเขา
…ถ้ามีโอกาสก็ช่วยคนอื่นเขา มีคนบางคนวิ่งมาบอกขอบคุณมากเลยตอนนั้นเซ็นงานให้เขาทั้งที่เราอยู่ระดับคณบดีแต่ว่าเขามาขอให้เราเซ็น เราก็ลงมาเซ็นให้ทันทีเลย เขาก็เลยรู้สึกซึ้งใจมากที่เจอกันวันนั้น…ผมก็จำไม่ได้หรอกครับ เพราะเราถือว่าใครมาขอความช่วยเหลือเราก็ช่วยเหลือไปโดยที่เราไม่ได้จดจำว่าเราช่วยใครไปบ้าง เราไม่ได้ถือเป็นสรณะว่าช่วยเธอ เธอต้องมาทดแทนบุญคุณฉันเพราะไม่เคยคิดอย่างนั้นเลย ไม่เคยคิดว่าต้องมีค่าตอบแทนใดใดทั้งสิ้น เพราะมันไม่มีประโยชน์หรอกครับเราหวังทำอะไรแล้ว เราหวังอยากจะได้ของจากคนอื่นเขานั้นแสดงเราทำเพื่ออามิสสินจ้างซึ่งมันไม่ได้อยู่ในคอนเซ็ปต์ของผมเลย ”
“ ผมมีแต่ให้ ตั้งใจไว้อย่างนั้นว่าชีวิตนี้มีแต่ให้ “ ทำในสิ่งดีดี มีประโยชน์ต่อผู้คนทั้งหลาย การที่เราได้บวชเรียนถือเป็นการพลิกชีวิตอันยิ่งใหญ่ เราบวชในวัดฝ่ายธรรมยุต จึงค่อนข้างเคร่งคัดในพระธรรมวินัย ได้อะไรดี ๆ หลายอย่าง นับว่ามีประโยชน์มากถ้าเราตั้งใจจริง ๆ นั่งสมาธิเป็น เดินจงกรม พวกนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการใช้ชีวิต และมุมมองของชีวิต
… เพราะฉะนั้นเราใช้ชีวิตของเราด้วยความไม่ประมาท หมั่นทำบุญทำทาน หมั่นสวดมนต์ไหว้พระแผ่เมตตาให้กับสรรพสัตว์ทั้งหลายด้วย เพราะว่าวิญญาณทั้งหลายที่ตายแล้วนี้ยังไม่สามารถไปผุดไปเกิดได้ก็จะลำบาก หิวโหย มีแต่ความทุกข์นะครับ ยิ่งเขาตายไปไม่รู้ตัวด้วยแล้วยิ่งจะเป็นทุกข์หนักเข้าไปใหญ่ เราก็มีหน้าที่ช่วยสัมภเวสีเหล่านี้ด้วย เพราะว่าผมเป็นลูกศิษย์ของหลวงตาม้า ที่วัดถ้ำเมืองหลวงปู่ทวด หลวงปู่ดู่วัดสะแก อยุธยา ท่านสอนให้เรารู้จักจะช่วยเหลือสรรพสิ่งทั้งหลายที่อยู่ในโลกนี้ด้วยนะครับ ท่านก็สอนไว้อย่างนั้น และให้ทำไว้เรื่อย ๆ และแผ่เมตตาไปโดยตลอด.”