ร่มพิศม์ศรี น้อยใจบุญ
รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานขายและบริการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน)
“หาต้นตอสาเหตุของปัญหา และแก้ไขไปที่ต้นตอของปัญหา”
Using Why – Analysis to find the root cause of problems
มาทำความรู้จักเรียนรู้การบริหารงานของ ร่มพิศม์ศรี น้อยใจบุญ รองกรรมการผู้จัดการฝ่ายงานขายและบริการ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารงานหญิงรุ่นใหม่ที่มีคุณสมบัติทั้งเก่งและแกร่ง ของ ผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้า “เอกรัฐ” สินค้าของคนไทย ตราสัญลักษณ์สินค้าไทย ซึ่งเป็นองค์กรชั้นนำด้านธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าส่งออกครอบคลุมทุกประเทศในภูมิภาคอาเซียน และทั่วโลกกว่า 30 ประเทศ
ประวัติโดยสังเขป
“ศึกษาจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาอุตสาหการ มหาวิทยาลัยรังสิต จากนั้นไปเรียนต่อที่สหรัฐอเมริกาที่ George Washington University (GW) หลังจากศึกษาจบก็ได้เข้ามาทำงาน ที่ บริษัท เอกรัฐวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 โดยเริ่มจากการทำงานที่โรงงาน เหมือนพนักงานคนอื่นๆ คือเริ่มจาก ฝ่ายวิศวกรรม ฝ่ายผลิต เรียนรู้การผลิตหม้อแปลง เช่น เรียงเหล็ก พันคอยล์ ตัวถัง ตลอดจนการผลิตต่างๆจนผลิตออกมาเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า”
เรียนรู้งานทุกแผนก
“ได้เรียนรู้การทำงาน ทุกแผนก และทุกส่วนของโรงงาน หลังจากนั้นก็มาเรียนรู้งานที่สำนักงานใหญ่ที่ฝ่ายการตลาด, ฝ่ายบริหารบุคคล HR , ฝ่ายจัดซื้อ และปัจจุบันก็ฝ่ายงานขายและงานบริการ เรียกได้ว่าทำงานเกือบจะทุกแผนกค่ะ”
หน่วยงานที่ถือว่าท้าทายความสามารถ
“หลาย ๆ หน่วยงานคะ มันมีความยากง่ายแตกต่างกัน แต่ที่คิดว่างานที่ท้าทายความสามารถ คือ งานด้านการบริหาร โดยเฉพาะการบริหารคน มันไม่ใช่เรื่องง่ายและปัจจุบันก็มีงานด้านการขาย อย่างที่เราก็ทราบๆ กันอยู่ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าที่มีการแข่งขันกันมาก รวมถึงหม้อแปลงจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันทางด้านราคามากขึ้น เราต้องทำให้ยอดขายเพิ่มขึ้นหรือทำให้บริษัทมีกำไรมากขึ้น พนักงานอยู่ได้มีค่าใช้จ่ายพอเพียงกับสภาวะปัจจุบัน”
อุตสาหกรรมหม้อแปลงไฟฟ้าในปัจจุบัน
“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา งานโปรเจ็กต์ ต่างๆ ไม่ได้มีมาก เหมือนที่ผ่านๆ มา การเจริญเติบโตของหม้อแปลงไฟฟ้า มีการแข่งขันสูง บริษัทหม้อแปลงมีมากขึ้นประมาณ 20 ราย มีคู่แข่งเพิ่มมากขึ้น แต่ก่อนมีแค่ 5-6 รายที่เป็นรายใหญ่ๆ ซึ่งทางเราได้มีการปรับเปลี่ยนกลยุทย์เพื่อ กระตุ้นยอดขายและมีการประชาสัมพันธ์หรือพูดคุยกับลูกค้าให้มั่นใจในผลิตภัณฑ์มากขึ้น คือสินค้าของเราพูดง่ายๆ ว่า หม้อแปลงไฟฟ้า “เอกรัฐ” เมื่อเทียบราคากับยี่ห้ออื่น ราคาอาจจะสูงกว่า แต่เมื่อเทียบกับคุณภาพและระยะเวลาในการใช้งานแล้ว ถือว่าไม่แพงเลย เพราะเราเน้นเรื่องคุณภาพของสินค้าเป็นหลัก
…เราต้องทำให้ลูกค้าเข้าใจและเลือกที่จะมาซื้อสินค้าของเรา ต้องมีการทำการตลาดให้ลูกค้าทราบถึงคุณภาพที่ดีและมีบริการดูแลหลังการขาย ซึ่งลูกค้าบางรายอาจ จะดูเรื่องราคาเป็นหลัก แต่ไม่ได้คำนึงถึงบริการหลังการขาย ว่าใช้งานไป 2-3 ปี อาจจะมีปัญหา แต่ถ้าเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า “เอกรัฐ” แล้ว เรามั่นใจในคุณภาพสินค้า และเน้นบริการหลังการขายนับ 10 ปี ลูกค้าซื้อไปไม่ผิดหวังแน่นอน”
ลูกค้าตัดสินใจเลือกซื้อหม้อแปลง “เอกรัฐ” เพราะจุดเด่น
“ด้วยประสบการณ์ที่มีมานานแล้ว จุดเด่นของหม้อแปลง “เอกรัฐ” เราเน้นเรื่องคุณภาพ เพราะถ้าใช้ไปในระยะยาวนาน 20-30 ปี ก็จะรู้ว่าหม้อแปลง “เอกรัฐ” คอยดูแลเรื่องบริการหลังการขายตลอดอายุการใช้งาน ฉนั้นลูกค้าที่ซื้อสินค้าของเราไปไม่ต้องกังวลเรื่องการซ่อมบำรุงรักษาซึ่งมันดูไม่คุ้มค่ากัน”
ปัญหาและอุปสรรคในปัจจุบัน
“ปัจจุบัน การที่มีคู่แข่งเพิ่มขึ้น ลูกค้าบางรายอาจมองในด้านราคาเป็นหลัก กรณีงานที่ถูกซื้อผ่านผู้รับเหมา ถ้าทางผู้รับเหมารับงานจาก Owner มาแล้ว และทาง Owner ไม่ได้กำหนดว่าต้องซื้อหม้อแปลงรายไหน ผู้รับเหมาก็อาจจะซื้อกับบริษัทที่ราคาถูกและทำกำไรให้ได้มากกว่าซึ่งเราก็เข้าใจได้ในส่วนหนึ่ง แต่จะทำอย่างไรให้ผู้รับเหมาหันกลับมาซื้อหม้อแปลง “เอกรัฐ” หรือบางทีต้องทำให้ Owner ทราบว่าหม้อแปลงของเรามีคุณภาพ แล้วตัดสินใจกำหนดสเปคเป็น “เอกรัฐ” ”
สัดส่วนการตลาดหม้อแปลง “เอกรัฐ” ภาครัฐกับภาคเอกชน
“สัดส่วนตอนนี้ของภาครัฐ เรานับว่าประมาณ 1 ใน 5 ของยอดขายงานภาครัฐส่วนใหญ่จะเป็นการไฟฟ้าภูมิภาค (PEA), การไฟฟ้านครหลวง (MEA) ซึ่งการไฟฟ้าภูมิภาค และ การไฟฟ้านครหลวง ส่วนมากเป็นการประมูลงานซึ่งขึ้นอยู่กับใครว่าจะได้งานไป ส่วนงานภาคเอกชน ก็จะเป็นงานโปรเจคและลูกค้ารายย่อย”
สินค้านอกจาก หม้อแปลง “เอกรัฐ”
“สินค้านอกจากที่เรามีหม้อแปลงไฟฟ้าแล้ว เรามีโซล่าร์เซลล์ และยังมีงานบริการ ซึ่งในด้านงานบริการ เรามีศูนย์บริการ 10 ศูนย์ทั่วประเทศ ถ้าลูกค้ามีปัญหาเกี่ยวกับหม้อแปลง เราก็มีหม้อแปลงให้ยืมใช้หรือ มีหม้อแปลงให้เช่า โดย 10 ศูนย์ทั่วประเทศก็มีอยู่ในทุกภาค ทำให้การบริการลูกค้ารวดเร็วขึ้น ถ้าลูกค้ามีปัญหาก็สามารถติดต่อศูนย์ที่ใกล้เคียงของแต่ละจังหวัดได้”
สัดส่วนรายได้หลัก รายได้รองของธุรกิจ
“รายได้หลักของเราคือหม้อแปลงไฟฟ้า ประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ งานบริการ 20 เปอร์เซ็นต์ ส่วนที่เหลือคือโซล่าร์เซลล์และอื่นๆ”
ตลาดโซล่าร์เซลล์ในปัจจุบัน
“ตลาดโซล่าเซลล์ของเอกรัฐปัจจุบันไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งเราก็ ยังอยากได้การสนับสนุนจากภาครัฐให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น”
ผลกระทบ ต่อธุรกิจและวิธีตั้งรับในยุคดิจิตอล
“ปัจจุบันเทคโนโลยีก้าวไปไกล ธุรกิจของเราเป็นธุรกิจหม้อแปลงไฟฟ้าเราก็อยากทำสื่อของเราให้ทันสมัย เพื่อที่ลูกค้าจะเข้าถึงได้ง่าย สามารถเสิร์ชหาข้อมูลของเราจากเว็บไซต์ สื่อต่างๆ หรือแอปพลิเคชั่น ได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น
แต่ถ้าถามว่ากระทบไหม อาจจะกระทบไม่มากเนื่องจาก เวลาที่ลูกค้าสั่งหม้อแปลงมันต้องมี สเปค มีการสั่งซื้อตามความต้องการของลูกค้า ไม่ได้เหมือนสินค้าอื่นๆ ที่สั่งซื้อออนไลน์ได้ แต่หม้อแปลงมันมีรายละเอียดมากกว่านั้น มีการออกแบบ ที่ต้องติดต่อประสานงานกับผู้ขายไม่ได้สั่งซื้อง่ายๆ แบบการคลิกออนไลน์ได้เลย”
มุมมองอนาคตของหม้อแปลงไฟฟ้า “ เอกรัฐ”
“เราก็อยากทำให้ “เอกรัฐ ”ยังคง เป็นผู้นำอันดับหนึ่งในด้านหม้อแปลงไฟฟ้า อยากจะรักษาไว้ให้อยู่อย่างนี้ แต่ว่าเราก็จะต้องพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าคู่แข่งมีมากขึ้น ก็คิดว่าอีก 5-10 ปี “เอกรัฐ” ก็ยังจะเป็นผู้นำทางด้านหม้อแปลงไฟฟ้าอยู่”
ข้อได้เปรียบของ “เอกรัฐ”
“ข้อได้เปรียบของ “เอกรัฐ” คือ คุณภาพของเราเป็นอันดับหนึ่ง และความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า การทำธุรกิจจะทำอย่างไรให้ลูกค้าอยู่กับเรานาน นั่นคือความซื่อสัตย์ก็จะทำให้เราได้ใจลูกค้า ลูกค้าบางรายซื้อหม้อแปลงตั้งแต่ บริษัทเพิ่งสร้างขึ้นใหม่ๆ ราว 30 ปีที่แล้ว บางคนหม้อแปลงก็ยังใช้อยู่ เราได้ไปคุยกับลูกค้า เราก็ดีใจว่าหม้อแปลงยังใช้ได้ปกติ และถ้ามีการบำรุงรักษาอย่างสม่ำเสมอและถูกวิธีก็จะ ทำให้หม้อแปลงใช้ได้นาน ซึ่งหม้อแปลงมันก็เหมือนรถยนต์ที่ต้องซ่อมบำรุง ต้องเปลี่ยนน้ำมันเครื่อง หม้อแปลงก็ต้องมีการกรองการเปลี่ยนน้ำมันหม้อแปลง มันจึงทำให้ระยะการทำงานของหม้อแปลงยาวนานขึ้น”
การดูแลรับผิดชอบงานขาย
“ตอนนี้ได้เข้ามาทำงานด้านงานขายได้ 1 ปี มันเป็นงานที่ค่อนข้างท้าทาย ในฐานะที่เรามาดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการฝ่ายการขาย ก็ต้องพยายามที่รักษาฐานลูกค้า เข้าถึงลูกค้า ศึกษาความต้องการของลูกค้าเพื่อที่จะตอบสนองลูกค้าให้พึงพอใจในผลิตภัณฑ์ของเรา”
ข้อได้เปรียบจบมาทางด้านวิศวกรรมมานี้ พอเรามาทำด้านการขายนี้
“การที่เรียนจบทางด้านวิศวกรรมอุตสาหการ (Industrial Engineering) IE นั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับวิศวกรรมบวกกับการบริหารมาด้วย ทั้งในด้านการบริหารโรงงาน วางแผนการผลิต QC แต่ถ้าถามว่าจะเอามาช่วยในงานขายได้ด้วยได้ไหม มันก็เอามาปรับใช้ได้ ในการบริหารคน หรือการบริหารงานในส่วนต่างๆ”
ข้อแนะนำสำหรับคนที่ก้าวสู่การเป็นผู้บริหาร หรือคนทำงาน
“ต้องมีความมุ่งมั่นในการทำงาน มีความอดทน คือ ตอนเข้ามาทำงานใหม่ๆ ได้ทำงานกับพนักงานมาหลายรุ่น เราได้ไปคลุกคลีกับพนักงาน รับรู้ความรู้สึกของพวกเขา รู้ว่าการทำงานแต่ละชิ้นหนึ่งขึ้นมาเขาเหนื่อยขนาดไหน มันไม่ใช่ง่ายๆ เราต้องเอาใจเขามาใส่ใจเรา ทำอย่างไรให้เขารู้สึกว่าอยู่กับเรา แล้วเขามีความสุขในการทำงาน คือกฎกติกาเรามี แต่เราก็ต้องมีความยืดหยุ่น มีความอบอุ่นเวลามาทำงาน ไม่ใช่ว่าทำงานกับเราทำให้จบไปวันๆ คือการทำงานมันมีปัญหาอยู่แล้ว แต่เราจะทำอย่างไรให้ทั้งคนและงานมีปัญหาน้อยที่สุด เรื่องบริหารงานง่ายกว่าบริหารคน ปัญหาคนรุ่นเก่า รุ่นใหม่ มีทุกหน่วยงาน แต่อยากจะแนะนำคนรุ่นใหม่ สิ่งที่เรารู้เราเก่งสามารถศึกษาจากในตำราได้ งานบางอย่างไม่ได้อยู่ในตำราแต่อยู่ที่ประสบการณ์ซึ่งเราสามารถศึกษาสิ่งเหล่านั้น ได้จากคนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่สมัยนี้เก่งกว่าเราสมัยก่อน อาจจะด้วยเทคโนโลยี หรือสื่อดิจิตอล ถ้าเอามาผสมผสานกับประสบการณ์ของคนรุ่นเก่า รับรองได้ว่าในอนาคตเค้าต้องเป็นคนทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงคนหนึ่ง”
เคล็ดลับทำอย่างไรให้คนทำงานกับเรามีความสุข
“พี่เป็นคนดุ แต่มีเหตุผล จะเป็นคนสอนงานลูกน้อง พอเวลามีงาน เราก็จะสอนวิธีการทำงาน ให้เขาฟังว่าต้องทำอย่างไร เป็นสเต็ปๆ พอสอนแล้ว เกิดเขาทำไม่ได้ เราก็ต้องคุยว่า คุณเข้าใจในงานที่เราสอนไหม เป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเราสอนไปแล้ว แล้วยังเกิดข้อผิดพลาด ก็ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไร ไม่ใช่ให้เขากลัว พอผิดพลาดแล้ว ไม่กล้าที่จะมาบอกเรา ทำอย่างไรให้เขากล้าที่จะมาคุยกับเราว่า มันเกิดการผิดพลาด
…พี่จะสอนลูกน้องตลอดเวลาว่าถ้าเกิดการผิดพลาดอะไร ให้มา บอกเรา อย่าเก็บความผิดพลาดไว้ แล้วค่อยมาบอกเราที่หลัง มันจะทำให้งานมีปัญหา กล้าพูดยอมรับผิดในสิ่งที่เราทำ และการที่กล้าเข้ามาคุยกับเรา เราในฐานะหัวหน้า เราต้องหาวิธีการที่จะแก้ไขให้งานมันราบรื่นขึ้น อย่า แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าให้จบๆ ไป ให้แก้ไขไปที่ต้นตอของปัญหา ไปคุยที่ต้นตอของปัญหาว่าเกิดจากอะไร และแก้ไขไม่ให้เกิดปัญหานั้นซ้ำอีก และมาคุยกันว่าเราได้เรียนรู้จากปัญหานั้นอย่างไร
…ใช้การวิเคราะห์หาปัจจัยที่เป็นต้นเหตุของปรากฏการณ์ หรือปัญหาที่เกิดขึ้น เพื่อให้ได้พบต้นตอ หรือรากเหง้าที่แท้จริง และที่สำคัญคือ เพื่อนำไปสู่การแก้ไข และป้องกันการเกิดซ้ำต่อไป เพราะพนักงานที่สำนักงานใหญ่, โรงงานและศูนย์บริการประมาณ 800 คน จำนวนไม่ได้น้อยกับการที่เราจะบริหารคนให้เกิดความเข้าใจกัน ให้มีความรักความสามัคคีกันในองค์กร”.