Home News Insights Digest นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด (Innovative Healthcare Solutions in the COVID Era)

นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด (Innovative Healthcare Solutions in the COVID Era)

0
นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด (Innovative Healthcare Solutions in the COVID Era)

การสัมมนาเกี่ยวกับวิทยาศาสตร์และธุรกิจผ่านเว็บ ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตฮังการี ณ กรุงเทพมหานคร

การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นวิกฤตสุขภาพระดับโลกในยุคสมัยของเราที่ทำให้เกิดความท้าทายทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ที่สุดที่เคยมีมาทั่วโลก การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ได้พิสูจน์ให้เห็นถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์การแพทย์ และในปีที่ผ่านมาได้แสดงให้เราเห็นว่านวัตกรรมจากสมาคมการวิจัยทางการแพทย์มีความสำคัญต่อการป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต

การสัมมนาผ่านเว็บหัวข้อ นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด (Innovative Healthcare Solutions in the COVID Era) ซึ่งจัดโดยสถานเอกอัครราชทูตฮังการี ณ  กรุงเทพมหานคร ถือเป็นโอกาสที่ดีในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศในด้านการดูแลรักษาสุขภาพ ซึ่งมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อพิจารณาถึงการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19  

ประเทศฮังการีมีประวัติศาสตร์ในด้านนวัตกรรมทางการแพทย์ยาวนานกว่า 100 ปี หนึ่งในบุคคลสำคัญที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติในด้านการแพทย์คือ อิกนาทซ์ แซมเมลไวซ์ (Ignác Semmelweis) ผู้ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ผู้ช่วยชีวิตเหล่ามารดา” (the Savior of the mothers) แพทย์ชาวฮังการีท่านนี้ได้ค้นพบสาเหตุของภาวะติดเชื้อหลังคลอด หรือไข้หลังคลอด และได้นำวิธีการฆ่าเชื้อโรคมาปฏิบัติใช้ในทางการแพทย์ในปี ค.ศ.1848  อัลแบรต์ เซนต์-เยิจยี่ (Albert Szent-Györgyi) ได้รับรางวัลโนเบลสาขาการแพทย์ในปี ค.ศ. 1937 จากการค้นพบวิตามินซี นอกจากนี้เขายังเป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยแซแกด (University of Szeged) ประเทศฮังการีอีกด้วย การผลิตเครื่องเอ็กซ์เรย์ในระดับอุตสาหกรรมในประเทศฮังการีเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ.1910 ในช่วงทศวรรษ 1940 บริษัทเมดิคอ (Medicor) ซึ่งมีพนักงานกว่า 14,000 คนและผลิตอุปกรณ์การแพทย์กว่า 450 ชนิดได้กลายเป็นบริษัทเทคโนโลยีการแพทย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ในปัจจุบันฮังการีได้กลายเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์การแพทย์และยารายใหญ่ที่สุดในภูมิภาคยุโรปกลางและยุโรปตะวันออก อุปกรณ์และเครื่องมือการแพทย์ของฮังการีถูกใช้ในทุกทวีปทั่วโลกรวมถึงแอนตาร์กติกาด้วย เมื่อย้อนกลับไปที่หัวข้อเกี่ยวกับโควิด 19 ข้างต้น คอตอลิน คอริโค้ (Katalin Karikó) นักชีวเคมีชาวฮังการีได้สร้างชื่อเสียงจากการวิจัยของเธอที่เกี่ยวกับการพัฒนาเอ็มอาร์เอ็นเอที่ถอดรหัสในหลอดทดลอง (in vitro-transcribed mRNA) สำหรับการบำบัดด้วยโปรตีน เป็นการวางรากฐานสำหรับวัคซีนเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่ใช้เอ็มอาร์เอ็นเอ

ระหว่างการสัมมนาวิทยาศาสตร์ทางเว็บนี้ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิชาวไทยสองท่านและชาวฮังการีสองท่านได้แบ่งปันประสบการณ์กับผู้เข้าร่วมงานสัมมนาเกี่ยวกับความท้าทายและความสำเร็จที่เกิดขึ้นในการต่อสู้กับเชื้อไวรัสโควิด 19 ศ.นพ.เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม หัวหน้าทีมวิจัยเบื้องหลังวัคซีน ChulaCov19 จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการพัฒนาวัคซีนกับผู้เข้าร่วมงาน

ศ.ดร.พรรณี ปิติสุทธิธรรม หัวหน้าศูนย์ทดลองวัคซีน มหาวิทยาลัยมหิดล ได้แสดงทรรศนะด้านการพัฒนาวัคซีน NDV-HXP-S และกล่าวถึงวัคซีนเชื้อตายที่พัฒนาในไทย ร่วมกับองค์การเภสัชกรรม พันธมิตรระหว่างประเทศ และมหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.แกร์แกย เริช (Dr. Gergely Röst) หัวหน้าทีมวิเคราะห์ทางระบาดวิทยาและแบบจำลองการตอบสนอง (Epidemiological Analysis and Modeling Response Team) ของกระทรวงนวัตกรรมและเทคโนโลยีของประเทศฮังการี (Ministry of Innovation and Technology in Hungary) อธิบายถึงวิธีที่ทีมใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์ตามระบบสมการเชิงอนุพันธ์เพื่อคาดการณ์การแพร่ระบาดของโรคระบาดในฮังการี เพื่อช่วยผู้มีอำนาจตัดสินใจในด้านสาธารณสุขในการกำหนด ประเมิน และเปรียบเทียบกลยุทธ์ที่ดีที่สุดในการควบคุมการระบาด

ดร.เยิจ แคแชรยู (Dr. György Keserű) หัวหน้ากลุ่มวิจัยของ ศูนย์วิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ธรรมชาติแห่งสถาบันวิทยาศาสตร์ฮังการี (Hungarian Academy of Sciences Research Center for Natural Sciences) นำเสนอการใช้ยาชนิดอื่น (Repositioned Drugs) ในการรักษาผู้ป่วยในกลุ่มผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด 19 และการพัฒนาการผลิตยาฟาวิพิราเวียร์ของฮังการี

การสัมมนาจับคู่ธุรกิจผ่านเว็บได้เปิดโอกาสให้บริษัททางการแพทย์ในฮังการี 9 แห่งนำเสนอวิธีการแก้ปัญหาทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับโควิด 19 แก่ผู้เข้าร่วมชาวไทยผู้เข้าร่วมงานได้ทำความคุ้นเคยกับหน้ากากของ KC Struktur ที่ผสมผสานความปลอดภัยด้านสุขภาพและความยั่งยืนไว้ด้วยกัน แผ่นกรองของหน้ากากอนามัยที่ใช้ซ้ำได้และเป็นมิตรกับผิวนี้ให้ประสิทธิภาพการกรองไวรัสและแบคทีเรียได้ถึง 99.98%  CF Pharma Ltd. มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและผลิตวัตถุดิบทางเภสัชกรรมที่ซับซ้อนและมีคุณภาพสูง อีกทั้งยังมีประสบการณ์ในการจัดการสารเคมีที่ซับซ้อนและเป็นอันตราย ในบรรดาสารเคมีที่บริษัทผลิต บริษัทได้ผลิตยาคลายกล้ามเนื้อที่ใช้สำหรับใส่ท่อช่วยหายใจด้วย Control-X ผลิตระบบเอ็กซเรย์วินิจฉัยโรคคุณภาพสูงสำหรับการใช้งานทางรังสีวิทยา ทางการแพทย์ และสัตวแพทย์ Continest เป็นผู้นำนวัตกรรม ตู้คอนเทนเนอร์แบบพับได้ ผลิตภัณฑ์ของบริษัทนี้ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและการจัดเก็บได้ถึง 80% และช่วยลดการปล่อย ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) และก๊าซเรือนกระจกในลักษณะเดียวกัน นอกจากนี้ตู้คอนเทนเนอร์นี้ยังทำหน้าที่เป็นโรงพยาบาลสนามชั่วคราวหรือจุดฉีดวัคซีนได้อีกด้วย  Graboplast ผลิตแผ่นปิดผนังขจัดเชื้อด้วยตัวเองซึ่งสามารถกำจัดแบคทีเรียและไวรัสได้ HandInScan นำเสนอโซลูชันในการการลดการติดเชื้อในโรงพยาบาลโดยการควบคุมและพัฒนาเทคนิคการฆ่าเชื้อที่มือ อุปกรณ์กรองอากาศ Nanosafe ใช้แสง UVC/VUV พลังงานสูงร่วมกับ TiO2 nano-photocatalyst ซึ่ง Nanosafe QNseries เป็นเทคโนโลยีการเคลือบโฟโตคะตาไลติกสมัยใหม่ (Modern Photocatalytic Coating Technology) ที่ช่วยขจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของเชื้อโรคที่หลงเหลืออยู่แม้ในระหว่างการทำความสะอาด

งานสัมมนาต่าง ๆ เช่น งานสัมมนาของสถานเอกอัครราชทูตฮังการีในเรื่อง นวัตกรรมการดูแลสุขภาพในยุคโควิด (Innovative Healthcare Solutions in the COVID Era) นี้มุ่งหวังจะสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักวิทยาศาสตร์ในระดับสากล ซึ่งจะสามารถวางรากฐานไปสู่การแก้ไขปัญหาวิกฤตด้านสาธารณสุขได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นในอนาคต