สุขภาพที่แข็งแรงถือเป็นรากฐานสำคัญสำหรับชีวิตที่มีความสุข แต่ในหลาย ๆ ครั้ง โรคภัยไข้เจ็บรอบตัว ตลอดจนอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่คาดฝัน ก็ทำให้สุขภาพที่เคยแข็งแรงต้องอ่อนแอลงได้โดยที่ไม่ได้ตั้งใจ และนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายมากมาย ด้วยเหตุนี้ นอกจากจะระมัดระวังเรื่องการกินอาหาร พร้อมหาเวลาออกกำลังกายเป็นประจำแล้ว การทำประกันสุขภาพเหมาจ่ายไว้ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สามารถช่วยเพิ่มความอุ่นใจในการรักษาพยาบาลได้เช่นกัน แต่ก่อนที่จะไปทำประกันเหมาจ่ายจากบริษัทใดก็ตาม ลองมาทำความรู้จัก 3 เรื่องสำคัญที่ต้องพิจารณาให้ดีก่อนทำประกันแบบเหมาค่าใช้จ่ายกัน จะมีเรื่องอะไรบ้าง มาเช็กไปพร้อมกันเลย!
ประกันเหมาจ่ายคืออะไร
ประกันแบบเหมาจ่าย คือ ประกันสุขภาพรูปแบบหนึ่งที่ทางบริษัทประกันจะมอบวงเงินสำหรับการรักษาโรคตามที่กำหนด ซึ่งอาจมีการจำกัดวงเงินที่ใช้รักษาในแต่ละครั้ง เช่น คุ้มครองเหมาจ่ายตลอดปี 500,000 บาท แต่จะคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสูงสุดครั้งละ 250,000 บาท
อย่างไรก็ดี หากรู้สึกประกันเหมาจ่ายยังไม่ตอบโจทย์ บริษัทประกันบางแห่งอาจมีกรมธรรม์ทางเลือกให้ผู้เอาประกันซื้อเพิ่มได้ เช่น การซื้อความคุ้มครองโรคร้ายแรงเพิ่ม ค่ารักษาพยาบาลฉุกเฉิน ยารักษาโรคบางรายการ ไปจนถึงโรคอื่น ๆ นอกเหนือจากรายการที่กำหนดเอาไว้
เบี้ยประกันคิดจากอะไร แพงกว่าประกันสุขภาพทั่วไปหรือไม่?
ประกันเหมาจ่ายส่วนใหญ่มาพร้อมกับเบี้ยประกันที่สูงกว่าประกันสุขภาพทั่วไป เนื่องจากสามารถคุ้มครองได้ครอบคลุมหลายโรค รวมถึงค่าใช้จ่ายหลายประการ เช่น ค่าแพทย์ ค่าห้อง ค่าผ่าตัด หรือบางกรมธรรม์อาจรวมถึงค่าวางยาสลบเข้าไปด้วย
หากค่าใช้จ่ายในการรักษาแต่ละครั้งสูงกว่าที่กรมธรรม์กำหนด ผู้เอาประกันจะต้องจ่ายเงินส่วนเกินเอง เช่น หากประกันคุ้มครองค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งอยู่ที่ 200,000 บาท แต่ค่าใช้จ่ายจริงอยู่ที่ 210,000 บาทก็เท่ากับว่า ผู้เอาประกันอย่างเรา ๆ จะต้องจ่ายเพิ่ม 10,000 บาทนั่นเอง ซึ่งถือว่าช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลแต่ละครั้งได้อย่างคุ้มค่าเลยทีเดียว
สรุปสุดท้าย! ควรทำประกันเหมาจ่าย หรือ ประกันแบบแยกค่าใช้จ่าย
สำหรับใครที่ยังไม่แน่ใจว่าควรทำประกันเหมาจ่ายไหม หรือควรทำประกันสุขภาพแบบแยกค่าใช้จ่ายดี ขอแนะนำให้ลองพิจารณาถึงค่าเบี้ยประกันเป็นอันดับแรก ซึ่งถ้าไม่อยากเพิ่มภาระให้ค่าใช้จ่ายมากก็ควรเลือกทำประกันที่มีเบี้ยประกันไม่เกิน 10% ของรายได้ทั้งปี จากนั้นจึงพิจารณาถึงความคุ้มครองเป็นลำดับต่อมา สุดท้ายจึงตรวจสอบถึงโอกาสในการเกิดโรคต่าง ๆ โดยอาจพิจารณาจากสุขภาพของตัวเองในช่วง 1 – 5 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหากพบว่ามีการเจ็บป่วยบ่อย ๆ ก็ควรเลือกบริหารค่าใช้จ่ายด้วยการทำประกันเหมาจ่าย แต่หากมีการเจ็บป่วยน้อย แต่ละครั้งใช้ค่าใช้จ่ายจำนวนมาก การทำประกันแบบแยกค่าใช้จ่ายก็อาจตอบโจทย์ได้มากกว่า
จบลงไปแล้วกับ 3 เรื่องควรรู้เกี่ยวกับการทำประกันสุขภาพแบบเหมาค่าใช้จ่าย หากใครกำลังวางแผนทำประกันเพื่อดูแลสุขภาพและสร้างความอุ่นใจให้ค่าใช้จ่าย อย่าลืมนำทั้ง 3 ข้อควรรู้ที่นำมาฝากนี้ไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจด้วยนะ