มือสั่น ขาสั่น เคลื่อนไหวช้า ไม่แสดงสีหน้า พูดเสียงเบาแทบไม่ได้ยิน
อาการที่หลายคนไม่ได้ใส่ใจนักหากเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ
เพราะเข้าใจว่าเป็นอาการทั่วไปที่เกิดขึ้นได้ในผู้สูงอายุ
แต่รู้หรือไม่ว่า อาการดังกล่าวอาจเป็นสัญญาณบ่งชี้ของ “โรคพาร์กินสัน”
ที่หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้อง เสี่ยงต่อการเป็นผู้ป่วยติดเตียงได้!
“รู้จัก “โรคพาร์กินสัน”
โรคพาร์กินสัน คือโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาทและสมอง โดยเฉพาะในส่วนที่มีการผลิตสารโดพามีน สารที่ช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวและทำให้การทรงตัวเป็นไปได้อย่างปกติ ซึ่งเมื่อระบบประสาทและสมองเกิดความเสื่อม การผลิตสารโดพามีนจะลดลง จนเกิดความผิดปกติทางด้านการเคลื่อนไหว อาทิ มือสั่น เคลื่อนไหวช้า หรือทรงตัวลำบาก
อาการของ “โรคพาร์กินสัน”
โดยปกติแล้ว โรคพาร์กินสันจะไม่แสดงอาการเฉียบพลันเหมือนโรคทางสมองอื่น ๆ และอาการที่จะแสดงออก จะมากน้อยแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ดังนี้
- อาการมือสั่น ขาสั่นขณะพัก เมื่อมีคนทักจะหยุดสั่น
- เคลื่อนไหวช้า หรือเคลื่อนไหวไม่ได้ดั่งใจ มักเริ่มเป็นที่ข้างใดข้างหนึ่งก่อน
- เดินช้า ก้าวสั้น เดินโน้มไปข้างหน้า ไม่แกว่งแขน
- ล้มง่าย
- ใบหน้าเฉยเมย
- พูดเสียงเบา พูดรัวเร็ว ฟังลำบาก
การรักษา “โรคพาร์กินสัน”
- รับประทานยา เพื่อปรับสมดุลสารโดพามีนในสมอง มักจะได้ผลดีมาก โดยเฉพาะในการรักษาช่วงเริ่มแรก
- ทำกายภาพบำบัด เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพของร่างกาย เพิ่มความสมดุลของการทรงตัว
- ผ่าตัด ในผู้ที่มีอาการดื้อยา ด้วยการฝังเครื่องกระตุ้นไฟฟ้าในสมองส่วนลึก (Deep Brain Stimulation, DBS)
โรคพาร์กินสัน คือโรคร้ายที่มักเกิดขึ้นในผู้สูงอายุ ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี จะเสี่ยงเกิดการพิการ หรือกลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง ดังนั้น การสังเกตอาการผิดปกติของผู้สูงอายุจึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างมาก และหากพบว่ามีพฤติกรรมที่ผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อทำการตรวจหา วินิจฉัย ให้การรักษาเป็นไปได้อย่างทันท่วงที!
ขอขอบคุณบทความโดย พญ. พิมลพรรณ วิเสสสาระกูล