หลายคนคงเคยประสบปัญหาท้องผูก ขับถ่ายยาก ไม่เป็นเวลา และหากขับถ่ายน้อยกว่า 3 ครั้งใน 1 สัปดาห์ อาจเป็นอาการท้องผูก ซึ่งอาการท้องผูกนั้นสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุหลัก ดังนี้
- พฤติกรรมที่ไม่ถูกต้อง เช่น รับประทานอาหารที่มีกากใยน้อย ดื่มน้ำน้อย ไม่ออกกำลังกายหรือไม่ค่อยเคลื่อนไหวร่างกาย หรือ แม้แต่การชอบกลั้นอุจจาระบ่อยๆ
- การเบ่งถ่ายอุจจาระผิดวิธี เช่น การออกแรงเบ่งพร้อมกับขมิบหูรูดทวารหนักไปด้วย เมื่อแรงเบ่งมีไม่มากพอที่จะเอาชนะแรงต้านบริเวณหูรูด อุจจาระก็ไม่สามารถจะเคลื่อนออกมาได้
- การทำงานของลำไส้ใหญ่ผิดปกติ หรือภาวะลำไส้เฉื่อย เป็นการที่ลำไส้ใหญ่เคลื่อนไหวน้อยลงทําให้อุจจาระเคลื่อนลงมาช้ากว่าปกติ
- การใช้ยาบางชนิดที่ทำให้ท้องผูก เช่น ยารักษาอาการซึมเศร้า ยารักษาโรคพวกพาร์กินสัน โรคอัลไซเมอร์ ยาลดความดันโลหิต ยาลดกรดที่มีส่วนผสมของแคลเซียม หรืออะลูมิเนียม ยาแก้ปวดที่มีส่วนผสมของมอร์ฟีน เป็นต้น
ซึ่งเมื่อเกิดขึ้นแล้ว สิ่งที่จะพอช่วยได้คือการปรับระบบขับถ่ายที่สามารถปรับเปลี่ยนเองได้ ดังนี้
- ปรับระบบขับถ่ายระยะยาวด้วยการปรับพฤติกรรม หลีกเลี่ยงการพึ่งพายาระบาย เพราะยาระบายจะทำให้ร่างกายเคยชินกับการได้รับยา และเมื่อหยุดยาก็จะกลับมาท้องผูกซ้ำอีก
- พยายามเข้าห้องน้ำทุกครั้งหลังมื้ออาหาร เพราะอาหารจะเข้าไปกระตุ้นลำไส้ใหญ่ให้บีบตัว และหากเข้าห้องน้ำเป็นประจำหลังกินอาหารก็จะช่วยปรับระบบขับถ่ายได้
- เข้าห้องน้ำภายใน 2 ชม. หลังตื่นนอน หรือ หลังอาหารเช้า เย็น เพื่อปรับระบบขับถ่ายให้ตรงตามเวลาในทุกวัน
- ไม่ควรติดพฤติกรรมการนั่งเบ่งในห้องน้ำนานกว่า 5 นาที และไม่ควรนั่งถ่ายนาน ๆ พร้อมกับการอ่านหนังสือพิมพ์ หรือ ไถโทรศัพท์ดูโซเชียลมีเดียไปด้วย
- การปรับระบบขับถ่ายที่ง่ายที่สุดคือการดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 2 ลิตร และควรดื่มน้ำตอนเช้า เพื่อช่วยชะล้างสิ่งตกค้างและกำจัดสารพิษในลำไส้ให้ออกไปจากร่างกาย นอกจากนั้นยังเป็นการกระตุ้นกระบวนการเผาผลาญของร่างกายให้ดีขึ้นด้วย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์ เพราะการออกกำลังกาย หรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ จะช่วยให้ลำไส้ใหญ่มีการหด และคลายตัว ซึ่งถือเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ช่วยปรับระบบขับถ่าย ช่วยกระตุ้นระบบขับถ่ายได้ดี
- เพิ่มการกินอาหารที่มีใยอาหารให้ได้ 25-30 กรัมต่อวัน โดยอาหารที่มีใยอาหารสูง เช่น อัลมอนด์ อินทผลัม ลูกพรุน เนื้อมะพร้าว ข้าวโพด ข้าวกล้อง อะโวคาโด ใบชะพลู ถั่วฝักยาว มะม่วงดิบ
- กินอาหารที่มีโพรไบโอติกส์ โพรไบโอติกส์ ซึ่งคือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ช่วยลดการอักเสบในลำไส้ ช่วยกระตุ้นให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้เพื่อการขับถ่ายได้ โดยสามารถพบโพรไบโอติกส์ได้มากใน นมเปรี้ยว โยเกิร์ต