รพ.ราชวิถี ชวนคนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในพลังแห่งการให้ครั้งสำคัญกับโครงการ
“รพ.ราชวิถี ดีต่อใจ ได้ต่อบุญ” ระดมทุนจัดซื้อเครื่องมือแพทย์ และสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ราชวิถี เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสจากทั่วประเทศให้ทั่วถึง รองรับกว่า 1,500,000 ชีวิตต่อปี ภายใต้แนวคิด “โรงพยาบาลที่คุณอาจลืม” ชี้เป็นโรงพยาบาล ที่พึ่งของคนไทยทุกกลุ่มทั่วประเทศ จากทุกภูมิภาค รับส่งต่อผู้ป่วยใหญ่ที่สุดของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นโรงพยาบาลที่คนส่วนใหญ่นึกไม่ถึง เผยยังขาดแคลนเครื่องมือแพทย์อยู่อีกมาก อาทิ เครื่องช่วยหายใจ เตียงผ่าตัด โคมไฟผ่าตัด เครื่องอัลตร้าซาวน์ เครื่องล้างไต ห้องผู้ป่วยวิกฤติ (ICU) และเตียงผู้ป่วย มั่นใจโรงพยาบาลยังคงศักยภาพ ความเชี่ยวชาญ พร้อมมุ่งสู่ความเป็นเลิศในระดับสากลเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนต่อไป ชูความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ผ่าตัดทางกล้องและผ่าตัดแบบแผลเล็กกลับบ้านได้เร็ว ตามพระราชดำริด้านสาธารณสุข “เข้าใจ-เข้าถึง-พัฒนา”ดังนั้น จึงขอเชิญชวนคนไทยทุกคนร่วมกันบริจาคฯ คาดเปิดให้บริการได้กลางปีหน้า
“โรงพยาบาลราชวิถี ป็นโรงพยาบาลที่หลายคนอาจลืม หรือนึกไม่ถึงว่าจะขาดแคลน แต่ในความเป็นจริงเราเป็นโรงพยาบาลที่พึ่งของคนไทยทุกกลุ่มจากทั่วประเทศจากทุกภูมิภาค โดยเฉพาะผู้ป่วยด้อยโอกาส รองรับผู้ป่วยนอกมากกว่า 1,000,000 ชีวิตต่อปี และผู้ป่วยในอีกกว่า 40,000 ชีวิตต่อปี กับขนาด 1,200 เตียง และหมอเพียง 250 คน และจำนวนผู้ป่วยยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ข้อมูลในปี พ.ศ.2559 พบว่า แพทย์ 1 คน ต้องดูแลผู้ป่วยในถึง 161 คนส่วนผู้ป่วยนอก แพทย์ 1 คนต้องดูแลผู้ป่วยนอกถึง 3,996 คน ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากกว่าโรงเรียนแพทย์อื่นๆ อีกหลายแห่ง แต่โรงพยาบาลราชวิถีเองก็ทำการรักษาผู้ป่วยอย่างเต็มความสามารถ เพื่อหวังให้ผู้ป่วยหายจากความทุกข์ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ โดยไม่เคยปฏิเสธการรักษาผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยที่ส่งต่อมาจากโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ และผู้ป่วยในของโรงพยาบาลราชวิถีเอง ประกอบกับการตอบรับนโยบายโครงการประกันสุขภาพจากทางภาครัฐ จึงทำให้พื้นที่เดิมของโรงพยาบาลเกิดความแออัด และอาจทำให้ผู้ป่วยต้องรอเพื่อทำการรักษาค่อนข้างนาน ประกอบกับอาคารต่างๆ ที่เปิดทำการรักษามาเป็นเวลานานจึงทำให้ทรุดโทรมลงตามกาลเวลา เราจึงจำเป็นต้องขยายสถานที่และนำระบบเทคโนโลยีเข้ามาใช้มากขึ้นเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาช่วยให้ผู้ป่วยได้รับบริการที่ดีและรวดเร็วขึ้น หมอและบุคลากรก็ไม่โหลดจนเกินไป” ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลราชวิถี กล่าวและเสริมว่า
นอกจากนี้ จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีการแพทย์ที่ทันสมัย ครบวงจร การนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาช่วย อาทิ การผ่าตัดทางกล้อง และการผ่าตัดแบบแผลเล็ก กลับบ้านได้เร็ว รวมถึงการผ่าตัดด้วยหุ่นยนต์ ที่มองเห็นแบบระบบ 3 มิติ เป็นการผ่าตัดแบบความละเอียดสูงควบคุมโดยศัลยแพทย์ ลดภาวะแทรกซ้อนในการผ่าตัดได้หลายโรค เช่น การผ่าตัดรักษามะเร็งช่องปาก ลำคอ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งนรีเวช มะเร็งตับและทางเดินน้ำดี และการผ่าตัดกระดูกสันหลังและคอ โดยต้องใช้งบประมาณ 200 ล้านบาท
อีกทั้งยังมีการนำระบบ IT มาใช้เพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลารอคอยซึ่งเป็นปัญหาหลักของโรงพยาบาลรัฐที่ผู้มารับบริการต้องการให้แก้ไขมากที่สุด เพื่อให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยได้อย่าง เต็มศักยภาพ และสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น เช่น การทำประวัติ ทำทะเบียนผู้ป่วย นัดหมาย จองเตียงออนไลน์ เรียกคิวตรวจผ่านมือถือ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลราชวิถี ยังขาดแคลนงบประมาณอีกกว่า 500 ล้านบาท ในการก่อสร้างอาคารศูนย์การแพทย์ และการจัดซื้อเครื่องมือทางการแพทย์รพ.ราชวิถีแห่งใหม่นี้ อาทิ เครื่องช่วยหายใจ (ราคาประมาณ 1.2ล้านบาทต่อเครื่อง) เครื่องอัลตร้าซาวน์ (ราคาประมาณ 6.8 ล้านบาทต่อเครื่อง) เตียงผู้ป่วยแบบไฟฟ้า (ราคาประมาณ6 หมื่นบาทต่อเตียง) เตียงผ่าตัด (ราคาประมาณ 1.7 ล้านบาทต่อเตียง) โคมไฟผ่าตัด ( ราคาประมาณ 2.8ล้านบาทต่อโคม ) เครื่องไตเทียม (ราคาประมาณ 1.6 ล้านบาทต่อเครื่อง) และเครื่องควบคุมอุณหภูมิกายสำหรับผู้ป่วยวิกฤติ (ราคาประมาณ 9 แสนบาทต่อเครื่อง) เป็นต้น
โรงพยาบาลยังคงมีความจำเป็นต้องใช้งบประมาณในการจัดหาเครื่องมือแพทย์ให้พร้อมบริการผู้ป่วยและขอเชิญชวนคนไทยทุกท่านร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับโครงการ “รพ.ราชวิถี ดีต่อใจ ได้ต่อบุญ”
โดยสามารถร่วมบริจาคได้ที่ “ศูนย์การแพทย์ราชวิถี ในมูลนิธิโรงพยาบาลราชวิถี” ธนาคาร
ไทยพาณิชย์ สาขาโรงพยาบาลราชวิถี หมายเลขบัญชี 051-2-69056-1หรือ สอบถามโทร
02–3547997-9 หรือ http://www.rajavithihospitalfoundation.org มาร่วมสร้างกุศลอันเป็นนิรันดร์ กับ โรงพยาบาลราชวิถีโครงการ “รพ.ราชวิถี ดีต่อใจ ได้ต่อบุญ” เพื่อให้ชีวิตของผู้ป่วยที่รอโอกาสทางการรักษา ให้มีโอกาสได้ไปต่อ และสามารถกลับไปใช้ชีวิตกับครอบครัว และทำประโยชน์เพื่อสังคมต่อไป