ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญต่อประชาชนผู้เอาประกันภัยที่จะต้องได้รับการบริการที่ดีมีประสิทธิภาพและทั่วถึง จึงได้จัดตั้ง สำนักงาน คปภ. ภาค และ สำนักงาน คปภ. จังหวัด รวมทั้งสิ้น 9 ภาค 69 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นหน่วยงานสาขาของสำนักงาน คปภ. ในการปฏิบัติงานตามพื้นที่ที่รับผิดชอบทั้งในด้านการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการประกันภัย การคุ้มครองสิทธิประโยชน์และการให้บริการผู้เอาประกันภัยและประชาชนในพื้นที่ภูมิภาค เพื่อส่งเสริมความรู้ และการเข้าถึงระบบประกันภัย เผยแพร่ประชาสัมพันธ์องค์กรให้คำปรึกษาแนะนำการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท การรับเรื่องร้องเรียนด้านการประกันภัย การให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดอุบัติเหตุรายใหญ่ การเกิดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลต่างๆ เพื่อประสานงานและติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้เอาประกันภัย ตลอดจนการออกและต่อใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย รวมทั้งนำยุทธศาสตร์และนโยบายของ สำนักงาน คปภ. ไปสู่การปฏิบัติตามโครงการส่งเสริมการประกันภัยเชิงรุก เช่น โครงการยุวชนประกันภัย โครงการอาสาสมัครประกันภัย การเผยแพร่ความรู้ด้านการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อและช่องทางต่างๆในพื้นที่ที่ สำนักงาน คปภ. ภูมิภาครับผิดชอบ เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยและตระหนักถึงความสำคัญของการประกันภัยสามารถใช้การประกันภัยบริหารความเสี่ยงของตนเองและครอบครัวได้อย่างเหมาะสม
ในส่วนของอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิต พบว่า จังหวัดภูเก็ตมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันภัยมากเป็นอันดับต้นๆของประเทศ โดยมีอัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันชีวิตต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 51.37 อัตราการถือครองกรมธรรม์ประกันวินาศภัยต่อประชากรอยู่ที่ร้อยละ 103.61 โดยจังหวัดภูเก็ตมีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงทั้งประกันชีวิตและประกันวินาศภัย อยู่ที่ 6,769 ล้านบาท คิดเป็นอัตราร้อยละ 17.94 ของจำนวนเบี้ยประกันภัยรับรวมโดยตรงของ 9 จังหวัดในภาคใต้ที่มีจำนวนเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงรวมอยู่ที่ 37,736 ล้านบาท ซึ่งถือว่าจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีประชาชนให้ความสนใจและตระหนักถึงความสำคัญในการนำระบบประกันภัยมาใช้เป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงเป็นจำนวนมาก
“ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าที่ทำการแห่งใหม่ของ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ต แห่งนี้จะสามารถอำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชนผู้เอาประกันภัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้รับความบริการที่ดี ซึ่งจะสามารถสร้างความเชื่อมั่นและความอบอุ่นใจให้กับประชาชนผู้ใช้บริการด้านประกันภัย รวมทั้งพนักงานผู้ปฏิบัติงานในสำนักงาน คปภ.จังหวัดภูเก็ตทุกคนจะสามารถปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเป็นไปตามนโยบายของสำนักงาน คปภ. ที่ให้ความสำคัญในเรื่องของการให้บริการประชาชน ทั้งในด้านของการส่งเสริมความรู้ ความเข้าใจด้านการประกันภัยที่ถูกต้อง รวมทั้งการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ด้านการประกันภัยเพื่อให้ประชาชนได้รับการบริการที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรม อันจะส่งผลให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น และศรัทธาในระบบประกันภัยต่อไป ทั้งนี้อุบัติเหตุกรณีเรือโดยสารท่องเที่ยวล่ม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาทำให้มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเสียชีวิตถึง 47 คน ระบบประกันภัยเข้ามามีบทบาทที่สำคัญในการเยียวยาความเสียหายให้กับทายาทนักท่องเที่ยวที่บาดเจ็บ และเสียชีวิต โดยสำนักงานคปภ.จังหวัดภูเก็ตได้มีบทบาทที่สำคัญในการบูรณาการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ จนทำให้การจ่ายค่าสินไหมทดแทนเป็นไปด้วยความรวดเร็วและเป็นธรรมอีกด้วย”
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตจะให้บริการเป็นศูนย์สอบใบอนุญาตนายหน้าประกันภัยแห่งใหม่ ซึ่งจะเริ่มเปิดบริการในเดือนสิงหาคมนี้ ทำให้เกิดความสะดวก ซึ่งเดิมต้องไปสอบที่สำนักงาน คปภ. ภาค 9 (จังหวัดสงขลา) ทั้งนี้จะมีการใช้ระบบQR Code เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการในการชำระค่าธรรมเนียมการขอรับ ขอต่อใบอนุญาตบุคคลธรรมดา นิติบุคคล แบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว รวมทั้งจะช่วยกำกับดูแลการขายประกันภัยออนไลน์ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นธรรมแก่ผู้เอาประกันภัยอีกด้วย
ดังนั้นการเปิด สำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตแห่งใหม่นี้ จะทำให้ประชาชนผู้เอาประกันภัยได้รับบริการที่สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม รวมทั้งจะสร้างความมั่นใจให้นักท่องเที่ยวที่เข้ามาท่องเที่ยวในจังหวัดภูเก็ต โดยหากประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บ หรือเสียชีวิต เช่น กรณีเกิดอุบัติเหตุเรือนักท่องเที่ยวล่มเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านต้องขอชื่นชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ สำนักงาน คปภ.ภาค9 และสำนักงาน คปภ. จังหวัดภูเก็ตที่ได้ประสานงานแบบบูรณาการกับหน่วยงานทุกภาคส่วนภายในจังหวัดภูเก็ตอย่างใกล้ชิด จนภารกิจสำเร็จลุล่วง สามารถจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ประสบภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และเป็นธรรม จึงขอขอบคุณ สำนักงาน คปภ. มา ณ โอกาสนี้ด้วย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สายด่วน คปภ. 1186 หรือเว็บไซต์ www.oic.or.th หรือ กลุ่มงานสื่อสารองค์กร โทรศัพท์ 02-515-3998-9 ต่อ 8307 โทรสาร 02-513-1437 http://www.facebook.com/PROIC2012