Easy & Enjoy โดย โรจ ว่องประเสริฐ
“เรียบง่าย สบายใจ “ เป็นวิธีการดำเนินชีวิตที่ยอดเยี่ยมสำหรับคนไทยในยุคปัจจุบัน ด้วยภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ อีกทั้งสภาพอากาศแปรปรวน ร้อนผิดปกติ จนมีคำแนะนำให้สวมหมวกและใส่เสื้อแขนยาวทุกครั้งที่ออกจากบ้านในช่วงกลางวัน เนื่องจากช่วงนี้ประเทศไทยมีรังสียูวีอยู่ในระดับอันตรายสูงสุด( Extremely High ) หากไม่ป้องกันไว้จะเป็นอันตรายต่อผิวหนัง ค่าครองชีพอยู่ในเกณฑ์สูง รายได้ต่ำ สินค้าอุปโภคบริโภคขึ้นราคากันถ้วนหน้า การมีชีวิตแบบเรียบง่ายสบาย ๆ จะทำให้ชีวิตมีประสิทธิภาพและคุณภาพมากขึ้น
ในเรื่องของการทำงาน หลายท่านมักคิดว่า การทำงานจะต้องเคร่งเครียดเอาจริงเอาจัง จะทำแบบเล่นๆไม่ได้ ความคิดดังกล่าวควรเปลี่ยนแปร ทำให้สถานที่ทำงานที่มีการทำงานแบบ” หลุมขยะพิษ “ กลายเป็นสำนักงานที่มี “ ชีวิตชีวา “
“ Easy “ เริ่มนำมาใช้จนติดปากคนไทยมากขึ้น ตัวอย่างจากโทรศัพท์มือถือ “Easy Call” ในทางคอมพิวเตอร์จะใช้คำว่า” Friendly User “ ซึ่งก็เป็นเรื่องของEasy เช่นกัน การใช้ชีวิตเรียบง่ายก็เรียกว่า Easy Life คำทางศาสนาก็ใช้คำว่า “ สมถะ “ ในทางวิชาวิศวกรรมอุตสาหกรรม ก็มีคำว่า การทำงานให้ง่ายขึ้น( Work Simplify ) สถานบันการเงินก็มักจะโฆษณาเริ่มต้นด้วยคำEasy เป็นตัวจูงใจลูกค้า ทำให้คำEasy ดูเหมือนจะเป็นคำที่นิยมมากกว่าคำFriendly และ Simplify เพราะเรียกง่ายและติดปากคนไทยไปแล้ว
การดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย สบาย ๆ และมีความสุข เป็นวิธีดำเนินชีวิตที่ใช้ได้กับการดำเนินชีวิตของแต่ละท่าน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดา หรือมหาเศรษฐี ในประวัติของวอเรน บัฟเฟตมหาเศรษฐีอันดับสองของโลก เจ้าพ่อแห่งการลงทุน ก็ใช้วิธีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่าย เขาไม่มีคนขับรถประจำตัว ไปไหนมาไหนก็ขับรถเอง แต่งกายแบบสบาย ๆ ไม่โอ่อ่าแต่สะอาดตา นั่งกินกาแฟตามร้านข้างถนน คนเดียว หากคนไม่รู้จัก หรือไม่เคยเห็นหน้ามาก่อน ก็จะไม่รู้หลอกว่าเขาเป็นมหาเศรษฐี
หลายท่านเมื่อได้ยินคำว่าเรียบง่าย ก็คิดเอาแบบง่าย ๆ ว่า อะไรก็ได้ ซึ่งอะไรก็ได้นั้นเป็นแค่บางส่วนในหลายๆอย่างของคำเรียบง่าย แต่ก็ไม่ได้หมายถึงการปล่อยชีวิตให้ยุ่งเหยิง ไม่ดูแลบุคลิก หรือความสะอาดในการแต่งตัว คนที่ดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายจะมีเพื่อนฝูงจำนวนมาก และเป็นที่รักใคร่ของคนทุกระดับ ถ้าเป็นพนักงานก็ได้ความรักนิยมชมชอบจากเพื่อนร่วมงาน ถ้าเป็นผู้บริหารก็จะได้ความรักนับถือจากผู้ใต้บังคับบัญชา การบริหารงานจะมีประสิทธิภาพมากขึ้น ผู้ที่ต้องประสานงานหรือติดต่อด้วยทุกคนจะกองหัวใจไว้ด้วยกัน ทุ่มเทการทำงาน องค์กรนั้นจะเจริญเติบโต สิ่งที่ทำให้การทำงานและชีวิตเรียบง่าย มาจากหลายเหตุปัจจัย อาทิเช่น
- ได้รับการสั่งสมจากครอบครัว ตั้งแต่เล็กจนโต กินง่าย ๆ นอนง่าย ๆ แต่งกายอย่างเรียบง่าย อยู่อย่างเรียบง่าย เปรียบแล้วก็เท่ากับยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไม่มีฟอร์มมากจนน่าหมั่นไส้หรือขี้โอ่จนเกินเหตุ การปฏิบัติดังกล่าวจะได้จากการฝึกฝนจนเป็นนิสัย จากที่บ้านและที่โรงเรียน กระนั้น หากบางท่านที่ยังไม่มีนิสัยเรียบง่าย ก็สามารถฝึก ฝืน ข่มจิตเพื่อให้มีนิสัยเรียบง่ายได้ไม่ยาก ความเรียบง่าย สบาย ๆ ใจมีสุขนั้น ฝึกได้ทั้งที่บ้าน ในครอบครัว ที่ทำงาน หรือที่สถานการศึกษา หลักการก็คือการมองคนอื่นแบบมิตร และทำตนไม่แบ่งชั้นวรรณะ หรือติดยศฐาบรรดาศักดิ์ ให้ความนับถือคนอื่นและคนอื่นก็จะนับถือเรา มีมารยาทที่ดี อ่อนน้อมถ่อมตน อีโก้ไม่สูง
- หัดคิดเดินลัดสนามบ้าง บางครั้งบางท่านยึดขั้นตอนการปฏิบัติเคร่งครัดเกินไป ทั้ง ๆ ที่มีวิธีง่ายและรวดเร็วกว่า ประหยัดค่าใช้จ่าย ประหยัดเวลาซึ่งเป็นทรัพยากรที่ทรงคุณค่า แต่มักจะอ้างว่าต้องเป็นไปตามกฎระเบียบ วิธีนี้อาจทำให้เรื่องง่ายเป็นเรื่องยาก คำว่า”หัดคิดเดินลัดสนาม” เป็นคำเปรียบเทียบ กับการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน ตัวอย่างเช่น ผมเคยได้ยินประธานกรรมการบริษัทท่านหนึ่ง พูดในที่ประชุมเจ้าหน้าที่บริหารว่า “ ห้องทำงานของผม ประตูเปิดตลอดเวลา ท่านใดมีเรื่องจะปรึกษา หรือจะเข้าไปกินกาแฟแสดงความคิดเห็นใด ๆ ที่เป็นประโยชน์ หรือแม้กระทั่งเรื่องส่วนตัว ผมยินดีครับ เข้าไปได้เลย ไม่มีขั้นตอนใด ๆ “
แต่ผมก็เคยได้ยินเจ้าหน้าที่บริหารที่เวลาเพื่อนไม่ขอความช่วยหรือ หรือขอเอกสารที่เขารับผิดชอบพูดว่า “ คุณสั่งผมไม่ได้ คุณต้องทำเรื่องขอให้กรรมการผู้จัดการใหญ่สั่งผม “ ท่านหนึ่งตำแหน่งสูงสุด พูดดูกันเองง่าย ๆ แต่อีกคนเป็นแค่เจ้าหน้าที่บริหาร กลับฟังดูแล้ว ขั้นตอนเยอะจัง
- สร้างบรรยากาศเอื้ออำนวย การสร้างบรรยากาศของความเรียบง่าย อาทิเช่น บริษัทแห่งหนึ่งมีห้องเบรกกาแฟ พอได้เวลาก็ไปนั่งชงกาแฟกินและสนทนากันเองอย่างสนุกสนาน เป็นการผ่อนคลายไม่ให้เกิดความเครียด พักเที่ยงก็มีห้องอาหารให้สามารถนั่งทานด้วยกัน สร้างความเป็นมิตรความสามัคคี อย่างนี้พนักงานจะไม่อึดอัด และทุ่มเทแรงกายแรงใจให้กับงาน ให้ความเคารพและความร่วมมือกันและกันอย่างดี บางองค์กรมีห้องรับรองลูกค้าที่เข้ามาติดต่อ ส่งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยงข้องไปพบในห้องรับรองนั้น ลูกค้าก็จะรู้สึกสบายใจ บรรยากาศเรียบง่ายทำให้ลูกค้าไม่จู้จี่จุกจิก ยึดหลักการให้เกียรติและเชื่อถือกันและกันเป็นหลัก
- ยึดหลักศาสนาหรือหลักธรรมะมาปฏิบัติก็ได้ ในทางพุทธศาสนาก็มีวิธีปฏิบัติความเรียบง่ายหลายอย่าง เช่น “ อริยสัจจ์” เป็นแนวทางการดับทุกข์ การทำงานให้สำเร็จด้วย” พละ 5 “เป็นวิธีการที่ยึดปฏิบัติกันยาวนาน ไม่ต้องหาสูตรใหม่ ๆ ในการปฏิบัติ หลักศาสนาหรือคำสั่งสอนในศาสนายุคปัจจุบัน คนรุ่นใหม่หรือวัยรุ่นจะมองว่า เก่าแล้วหรือเฉยไปแล้ว เป็นเรื่องโบราณ และแทบจะหาความสนใจจากคนหนุ่มคนสาวได้ยาก แต่ในความจริง หลักศาสนาเป็นอมตะ ใช้ได้ตลอดการ และเรียนเท่าไรก็ไม่มีหมด อาทิเช่น คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแบ่งออกได้ถึงแปดพันสี่ร้อยพระธรรมขันธ์ แต่ก็มีผู้ย่อให้เข้าใจและปฏิบัติง่าย ๆ เป็นสามประการ คือ หนึ่ง ไม่ทำความชั่ว สอง ทำความดี และ สาม ทำจิตใจให้สงบ นึกไปแล้วสามประการนี้ก็เข้ากับเรื่องการเป็นอยู่แบบเรียบง่าย คนเรียบง่ายไม่ต้องคิดอะไรมาก ทำความดี ไม่ดีชั่ว และทำจิตใจให้สงบ เมื่อจิตใจสงบ ก็ไม่อิจฉาใคร ยินดีกับเพื่อนถ้าเพื่อนประสบความสุขความสำเร็จ ทุกข์เมื่อเขาทุกข์ หรือพลาดหวัง ใจสงบตรงข้ามกับใจว้าวุ่น คนใจว้าวุ่นเท่ากับคนที่ยังมีกิเลส มีตัณหา รัก โลภ โกรธ หลง ดังนั้นเอาหลักศาสนามาใช้ในการดำเนินชีวิตหรือการทำงาน ใช้ได้ทั้งที่บ้านที่ทำงานและที่สังคม
- สร้างกระบี่และใจเป็นหนึ่งเดียว อย่าให้กระบี่ไปทางแต่ใจไปอีกทางไม่สัมพันธ์กัน อาทิเช่น ความคิดไปอย่างหนึ่งแต่เวลาปฏิบัติทำอีกอย่าง โดยไม่มีเหตุผล ปากกับใจยังไม่สามัคคีกัน ฯลฯ ถ้าเป็นอย่างนี้ความเรียบง่ายก็ไม่เกิด ถ้าในตัวเรายังไม่สามัคคี จะไปหาความสามัคคีใด ๆ กับหมู่คณะ บรรยากาศแห่งความเรียบง่าย อาศัยทีมเวิร์คเป็นสำคัญ ทุกคนต้องเข้าใจ และเห็นด้วยกับบรรยากาศเช่นนี้ และปฏิบัติด้วยกัน แต่ที่ต้องพึงระวังว่า ความเรียบง่ายถ้าเลยเถิดไปจะกลายเป็นเรื่องลามปาม การให้เกียรติการให้ความนับถือ ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญเสมอ หรือที่ว่า ต้องรู้ กาละเทศะ
- แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เข้าหลักที่ว่า ลำบากก่อนสบายทีหลัง การจอดรถ หากเราขับรถถอยหลังเข้าที่จอด ตอนออกก็จะสบาย การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุนั้นจะลำบากในการนิยามปัญหา และการวิเคราะห์การสืบหาเหตุปัจจัยหาต้นเหตุ เมื่อแก้ไขได้ความสูญเสียก็จะน้อยลงหรือหมดไป ต่อไปการทำงานก็จะง่ายขึ้น
ในระบบบริหารISO/เสมอ ก็เน้นให้ทำงานแบบการป้องกันเหตุแห่งความเสื่อมเสีย( Prevention ) และพัฒนาปรับปรุงต่อไปอย่างต่อเนื่อง ขึ้นสู่สุดยอด( Continual Improvement ) หากเราปฏิบัติแบบรู้เท่าทันก็จะทำให้ง่ายขึ้นในที่สุด
- รู้เขารู้เรา หรือคำเปรียบเทียบว่า “ รู้ทางบอล “ ในการทำงานต้องรู้ใจนาย และรู้ใจลูกน้อง รู้ใจซึ่งกันและกัน และที่สำคัญต้องรู้ใจตนเอง ในการทำธุรกิจการตลาดก็ต้องรู้ใจลูกค้า ในการสงครามก็ต้องรู้กำลังข้าศึก รู้กำลังตนเอง รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง การไม่รู้ใจคนอื่น ทำอะไรก็ดูยากไปหมด เขาชอบสะอาด แต่เราไปทำแบบสกปรก เราก็ต้องกลับมาทำใหม่ แต่ถ้ารู้ใจทำครั้งเดียวก็สำเร็จ คล้าย ๆ กับรู้ข้อสอบล่วงหน้า ดังนั้นรู้เขารู้เรา เป็นกุญแจทำให้งานง่ายขึ้น
ในปัจจุบัน ไม่ว่าธุรกิจใด ๆ การทำการตลาดใด ๆ ก็มุ่งใช้หลักการเรียบง่าย ไม่ยาก ไม่มากขั้นตอน เป็นกันเอง และรวดเร็วเป็นหลัก
และการบริหารองค์กร ลูกค้า ผู้บริหาร ผู้ปฏิบัติงาน และทุก ๆ คนในองค์กรต้องการ อาจเรียกว่าทั้งหมดทั้งคนทั้งระบบเรียบง่าย( Total Easy & Enjoy ) เป็นภูมิปัญญาทำให้งานง่ายขึ้นในทิศทางที่ดี “แนวคิดในทฤษฏีนี้นับว่ายิ่งวันก็จะขยายไปเรื่อย ๆ ในระดับโลกที่เป็นสนามแห่งการค้า องค์กรของเราคงอยู่นิ่งเฉยไม่ได้อีกแล้ว.